7 เคล็ด วิธีลดกลิ่นสาบปลาดุก.

7 เคล็ด วิธีลดกลิ่นสาบปลาดุก

กลิ่นสาบในปลานั้นเกิดจากกลิ่นโคน(off-flavors) มักพบปัญหาเรื่องกลิ่นกันมากกับปลาที่เลี้ยงในบ่อดิน สำหรับปลาดุก สาเหตุหลักๆ ของการเกิดกลิ่นสาบติดเนื้อปลาก็คือ

1. ในบ่อเลี้ยงนั้นมีปริมาณสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน( blue green algae) อยู่มาก

2. เกิดจากการให้อาหารปลามากเกินไป

3. มีเศษซากพืชซากสัตว์ตกค้างอยู่ในบ่อ

4. เลี้ยงปลาด้วยอาหารที่มีส่วนผสมของไขมันมากไป

5. มีการใช้มูลสัตว์ร่วมกับปุ๋ยยูเรียในบ่อปลาในปริมาณมาก จนส่งผลให้เกิดสาหร่ายสีเขียมแกมน้ำเงินขึ้นตามามาก

ซึ่งการเลี้ยงปลาดุกให้ได้เนื้อปลาคุณภาพดี ไม่มีกลิ่นสาบนั้น สามารถป้องกันแก้ไขได้ด้วย 7 เคล็ดวิธีลดกลิ่นสาบปลาดุก ดังนี้

1. เปลี่ยนมาเลี้ยงปลาดุกในกระชังลดกลิ่นสาบ วิธีนี้ช่วยแก้ปัญหาเรื่องเศษอาหารปลาไปตกค้างก้นบ่อ จนเกิดการสะสมทำให้เกิดสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินและเศษอาหารที่เน่าเสียซึมเข้าสู่ตัวปลา ซึ่งกลายเป็นปัญหา ของผู้ที่เลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์ หรือ ภาชนะอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี เพราะเศษอาหารที่ปลาดุกกินเหลือ จะไหลลงสู่บ่อน้ำเป็นอาหารปลาด้านล่างแทน เมื่อปลาดุกถ่ายมูลออกมาจะกลายเป็นอาหารของปลาอื่นๆ จึงไม่มีสิ่งตกค้างในกระชัง เนื้อปลาดุกที่เลี้ยงด้วยวิธีนี้จะมีความหอมหวาน ไม่มีกลิ่นสาบคาวคล้ายกับปลาดุกที่ได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติ และยังจับขายได้ง่ายกว่าการเลี้ยงในบ่อดินหรือบ่อซีเมนต์อีกด้วย

2. บำรุงสุขภาพปลาดุกให้แข็งแรงด้วยน้ำหมักผลไม้สุก เป็นวิธีที่ทำให้ปลาดุกที่เลี้ยง มีความสมบูรณ์ ไม่เป็นโรค มีเนื้อหวานทานอร่อย ไม่เหม็นสาบ แม้จะเลี้ยงในภาชนะจำกัด แค่เพียงใช้น้ำหมักผลไม้สุก( วิธีการทำน้ำหมักผลไม้สุก) สาดลงไปในบ่อเลี้ยงปลาดุกในช่วงเย็น ในอัตรา 5 ลิตรต่อพื้นที่ 100 ตารางวาหรือ 1 งาน ทุกเดือนเพื่อปรับสภาพน้ำให้ไม่เหมาะต่อการเกิดสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินและลดการสะสมของเศษอาหารก้นบ่อ วิธีนี้จะทำให้น้ำในบ่อมีออกซิเจนมากขึ้น และทำให้สุขภาพของปลาดุกแข็งแรง มีไขมันสะสมในท้องน้อย ไม่มีโรคระบาด และช่วยรักษาแผลตามตัวให้หายได้ด้วย

3. เปลี่ยนถ่ายน้ำให้บ่อย อย่าให้น้ำเขียว และปรับสภาพน้ำที่เลี้ยงทุกครั้งหลังมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำด้วยหัวเชื้อจุลินทรีย์ EM สำหรับการเลี้ยงปลาดุกในบ่อปิด เช่น ถังพลาสติก บ่อซีเมนต์ ควรมีการถ่ายน้ำให้ปลาดุกใหม่ทุก 7 วัน และทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำใหม่ ให้ใส่หัวเชื้อจุลินทรีย์ EM ลงไปด้วยในอัตรา 2 ช้อนโต๊ะต่อพื้นที่บ่อขนาด 1 ตารางเมตร หากเลี้ยงไว้ในบ่อดิน ไม่ควรปล่อยให้เกิดน้ำเขียวมากเกินไป

4. เลี้ยงด้วยอาหารสูตรเด็ด เร่งโต ลดกลิ่นเหม็นสาบ ซึ่งเป็นสูตรที่มีการคิดค้นและพัฒนาขึ้นมาจากภูมิปัญญาของเกษตรกรที่นำไปใช้งเป็นอาหารเสริมเลี้ยงปลาดุกในบ่อปิดแล้วให้ผลดีในแง่ของการเร่งโต และเนื้อปลาที่ได้ไม่เหม็นสาบคาว นำไปให้ปลากินแทนหัวอาหารเม็ดหรืออาหารสำเร็จรูปวันละ 2 ครั้ง เช้า – เย็น

5. อย่าเข้าใจว่าปลาดุกกินเก่ง จนนำมาสู่การให้อาหารมากเกินไป การให้อาหารปลาดุกตามความเข้าใจที่ว่า เป็นปลากินเก่ง ประกอบกับอุปนิสัยของปลาดุกที่จะชอบอมอาหารแล้วไปคายทิ้งทีหลัง จึงเป็นเหตุให้เกิดเศษอาหารตกค้างสะสมอยู่ก้นบ่อมาก ดังนั้น ควรมีการจัดสรรให้ในปริมาณที่พอดี ควรให้อาหารทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง เช่น ให้วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ในสภาพอากาศปกติ หากสภาพอากาศเย็นซึ่งเป็นช่วงที่ปลาจะกินอาหารได้น้อยลง ควรปรับลดเหลือวันละครั้ง ในช่วงที่มีแดดจัด และก่อนจับปลาขาย 1 เดือน ควรปรับเปลี่ยนการให้อาหารจากอาหารที่ทำขึ้นเองมาเป็นการให้หัวอาหารตามปกติ

6. พักปลาที่จะจับขายในน้ำที่มีความเค็ม 3 ppt* ขึ้นไป ที่อุณหภูมิ 34- 36 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 36 ชม. จะทำให้กลิ่นสาบปลาดุกลดลง หรือ ใช้หลักการแบบชาวบ้าน คือ งดให้อาหารก่อนจับปลาขาย 3 วัน

– วันที่ 1 งดให้อาหาร

– วันที่ 2 งดให้อาหารและไขน้ำในบ่อปลาออก ให้เหลือความสูง 80 – 90 ซม.

– วันที่ 3 งดให้อาหาร ขังปลาไว้ในน้ำที่ความสูง 80 – 90 ซม. แล้วใส่เกลือเม็ด ลงไปในอัตรา 3,000 กรัมหรือ 3
กิโลกรัม / พื้นที่บ่อขนาด 1,600 ตารางเมตร( 1 ไร่) หรือ ใช้เกลือ 100 กรัม ต่อ พื้นที่บ่อ 50 ตารางเมตร

*** ppt ย่อมาจาก part per thousand ค่าความเค็มที่ได้จากการวัดด้วยวิธีดังกล่าวมีหน่วยเป็นส่วนในพันส่วน หรือใช้สัญลักษณ์ % มีการคิดหาค่า ppt ดังนี้

1 %=1/100

1 ppt=1/1000

1 ppt= 100/1000= 0.1 %

1 %=1000/100=10 ppt

โดยทั่วไปแหล่งน้ำจืดจะมีปริมาณเกลือน้อยกว่าร้อยละ 0.1% หรือน้อยกว่า 1 ppt ส่วนแหล่งน้ำเค็มจะมีเกลือเฉลี่ยโดยประมาณ ร้อยละ 3.5 % หรือ 35 ppt

การวัดจะใช้ salt meter วัดหาค่าความเค็ม ของเหลว เช่น น้ำเกลือ น้ำทะเล น้ำปะปา

7. ขังในน้ำสะอาด 7 – 14 วันก่อนจำหน่าย ก่อนการขายปลา 7 – 14 วันให้ ย้ายปลาที่จับเพื่อเตรียมจำหน่ายมาขังไว้ในน้ำสะอาด ระหว่างนี้ให้หัวอาหารปลาตามปกติ จะช่วยทำให้กลิ่นสาบปลาจางลงกว่าเดิม

หมายเหตุ
– การจะเลือกใช้วิธีไหนในการจัดการกับกลิ่นสาบปลา ให้พิจารณาถึงความคุ้มทุน ตลาดเป้าหมาย และความสะดวกของผู้เลี้ยงเป็นหลัก ทางเราแค่เพียงแนะนำไว้เป็นหลักการให้นำไปใช้จัดการตามความเหมาะสม

โดย : คุณมินยดา อนุกานนท์

Top