การกุยช่าย พืชสองสี ปลูกครั้งเดียว เก็บผลผลิตได้หลายรุ่น รายได้ดี
กุยช่าย เป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่น่าสนใจ ตัดใบขายเป็นกุยช่ายเขียวที่ใช้กินกับผัดไท ทำขนมกุยช่าย ทำผักดอง และเมนูอื่นๆได้อีกมากมาย หรือปล่อยให้ออกดอกเก็บดอกขายใช้นำไปผัดกับหมูกับเครื่องในก็แสนอร่อย หรือจะอัพมูลค่าขึ้นไปอีกด้วยการทำเป็นกุยช่ายขาว อวบๆกรอบๆ นำไปทำ หมูกรอบผัดกุยช่าย กุยช่ายขาวผัดเต้าหู้หมูสับ เป็นต้น การปลูกกุยช่ายนั้นแสนจะง่ายดาย ปลูกครั้งเดียวได้ผลผลิตถึงสามอย่าง อีกทั้งยังสามารถให้ผลผลิตได้หลายรุ่น ไม่ต้องปลูกบ่อยๆให้เสียเวลา ใช้เวลาในการปลูกแค่ 40 วันก็สามารถให้ผลผลิตได้แล้ว นับว่าเป็นพืชอีกตัวที่น่าจับตามองเลยทีเดียว วันนี้ วีดีโอ เกษตร เลยจะขอนำเสนอขั้นตอนและวิธีการในการปลูกกุยช่าย ว่าเขาทำกันอย่างไร
การเตรียมดินในการปลูกกุยช่าย
การเตรียมดินนั้นเราจะทำการไถตากดิน 15-20 วัน โดยการหว่านปุ๋ยหมักและปุ๋ยคอกไปด้วย จากนั้นตีดินให้ร่วน แล้วยกแปลงให้พูนขึ้นเป็นเนิน เพราะกุยช่ายชอบความชุ่มชื้นแต่ไม่ชอบน้ำขัง
การเตรียมต้นพันธุ์กุยช่าย
ก่อนอื่นเราต้องไปหาซื้อต้นพันธุ์กุยช่ายมาก่อน โดยราคาจะอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 3000-4000 บาท โดยหนึ่งกิโลกรัมสามารถปลูกได้ประมาณ 4 ไร่ เมื่อได้เมล้ดพันธุ์มาเราก็จะเตรียมแปลงต้นกล้าด้วยการหว่านปุ๋ยคอกปุ๋ยหมักแล้วไถตากดิน 15-20 วัน จากนั้นย่อยดินให้ร่วน ยกแปลง รดน้ำให้ชุ่ม หว่านเมล็ดแล้วหว่านแกลบคลุมอีกที จากนั้นคอยรดน้ำเช้าเย็นให้แกลบชุ่มชื้นอยู่ตลอดจนเมล็ดงอก โดยเมล็ดจะงอกใน 7-14 วัน จากนั้นก็ดูแลต้นกล้าไปเรื่อยๆจนต้นกล้ามีอายุประมาณ 40 วันจึงย้ายไปปลูกลงแปลงได้
การปลุกกุยช่าย
หลังจากที่เราเตรียมดินและทำแปลงไว้แล้วก็ถึงขั้นตอนในการปลูกกุยช่าย การปลูกกุยช่ายทั่วไปนิยมปลูกโดยใช้ระยะระหว่างต้นและระหว่างแถว 20-30 เซนติเมตร เราอาจใช้วิธการขึงเชือกหรือใช้คราดตีตารางก็ได้ จากนั้นเราก็จะขุดต้นพันธุ์กุยช่ายมาแยกต้นออกโดยขุดลึกลงใต้ราก แล้วมาแยกต้น ตัดใบให้เหลือประมาณ 5-6 เซนติเมตร แล้วนำไปปักดำตามระยะ จากนั้นเอาฟางคลุมอีกทีเพื่อเก็บความชื้น
การดูแลรักษากุยช่าย
ส่วนการดูแลนั้นกุยช่ายเป็นพืชที่ชอบชื้นไม่ชอบแฉะ การให้น้ำก็ขึ้นอยู่กับฤดูกาล ให้ดินมีความชื้นอยู่เพียงพอตลอด และควรมีการถ่าย/วิดน้ำในร่องสวน 3 หรือ 4 เดือนครั้ง เพื่อลดความเป็นกรดในดิน ส่วนการให้ปุ๋ยในช่วงแรกหลังปลูกได้ 7 วัน จะใส่ปุ๋ยเคมี ยูเรีย (46-0-0) หรือสูตร 25-7-7 เพื่อเร่งต้น ให้แตกรากและตั้งตัวได้ พอตั้งต้นได้ดีแล้วก็จะไม่เร่งต้นมากเพราะเดี๋ยวโครงสร้างจะอ่อนแอ โรคเข้าทำลายได้ง่าย ปุ๋ยที่ให้จะเปลี่ยนเป็นสูตรเสมอผสมกับปุ๋ยชีวภาพบ้าง ซึ่งสัดส่วนที่ใช้ก็จะดูจากสภาพต้นหรือความต้องการของพืชเป็นหลัก รวมทั้งการแก้ปัญหาในแต่ละฤดูกาลเพื่อให้ได้มาซึ่งผลผลิตตามที่ต้องการ อย่างเช่น หน้าร้อน ผักไม่ค่อยโต ใบไม่ค่อยงาม ก็ต้องมีการกระตุ้นด้วยยูเรียหรือปุ๋ยสูตรตัวหน้า(N) สูง หน้าฝน ผักได้ไนโตรเจนจากฝนเยอะแล้ว ก็จะใส่ปุ๋ยสูตรเสมอหรือสูตรตัวกลาง (P) กับตัวท้าย (K) สูง เพื่อกดใบไว้ไม่ให้งามเกิน เพราะจะทำให้เกิดโรคเน่าง่ายและหน้าหนาว ใบจะงามเองโดยธรรมชาติอยู่แล้ว แต่พืชไม่ค่อยออกดอกติดผล ก็จะใส่ปุ๋ยสูตรที่หนักไปทางตัวกลางกับตัวท้ายสูง เพื่อช่วยให้กุยช่ายออกดอกมากขึ้นในช่วงฤดูหนาวซึ่งเป็นช่วงที่ดอกกุยช่ายมักจะมีราคาแพง
การจัดการโรคและแมลงกุยช่าย
การจัดการด้านโรค-แมลง นั้นจะเน้นการป้องกันเอาไว้ก่อนโดยดูจากสภาพอากาศเป็นหลัก เช่น อากาศร้อน อบฝน ที่มักจะเกิดโรค แมลงได้ง่าย ก็จะต้องมีการฉีดยาป้องกันเอาไว้ โรคที่มักระบาดและเจอบ่อยในแปลงกุยช่ายก็จะมีใบเน่า ยุบ ถ้าระบาดรุนแรงใบจะเน่าเสียหาย ทำให้ต้นเน่ายุบตายเป็นหย่อมๆหรือตายหมดทั้งแปลง ส่วนใหญ่จะเกิดปัญหาช่วงฝนก็จะพ่นสารเคมีในกลุ่มเมทาแลกซิลเพื่อจัดการกับโรค ช่วงหนาวก็อาจใบจุดสนิมบ้างพ่นสารในกลุ่มคอปเปอร์หรือกำมะถันก็ช่วยได้ ส่วนแมลงไม่ค่อยเป็นปัญหากับกุยช่ายพ่นเพียงไซเปอร์เมทรินและอะบาเม็คตินคุมไว้ก็พอแล้ว
การเก็บเกี่ยวกุยช่าย
หลังจากกุยช่ายมีอายุได้ 4 เดือนก็จะสามารถตัดใบขายได้แล้ว ในการตัดมีดแรกจะต้องคลุมฟางใหม่ รดน้ำและใส่ปุ๋ย ผ่านไปได้ 10 วันก็จะมีดอกกุยช่ายทยอยออกมาให้เก็บดอกขายต่ออีก หลังตัดใบครั้งแรก 2 เดือน ก็จะสามารถวนกลับมาตัดใบได้อีกครั้ง ถือเป็นครั้งที่ 2 หรือมีดที่ 2 เป็นอย่างนี้สลับหมุนเวียนไปเรื่อยๆ ในการตัดแต่ละครั้งจะทำให้ต้นเล็กลงไปเรื่อยๆและดอกก็จะสั้นลง จึงต้องมีการบำรุงเพื่อให้ต้นสมบูรณ์อยู่เสมอ โดยกุยช่ายแต่ละแปลงจะสามารถตัดใบขายได้ประมาณ 4-5 มีด หรือหากดูแลดีๆ ต้นสมบูรณ์ก็จะสามารถตัดได้ถึง 7 มีด
การทำกุยช่ายขาว
การทำกุยช่ายขาวนั้นจะมีเทคนิคการทำคือหลังจากตัดกุยช่ายแล้ว จะใช้กระถางดินเผาครอบ แล้วใช้ สแลนคลุมพรางแสงอีกทีเพื่อลดความร้อน ปล่อยทิ้งไว้ 10-12 วันก็จะสามารถตัดกุยช่ายขาวได้แล้ว
การทำกุยช่ายขาวด้วยกระบอกไม้ไผ่
มีเกษตรกรบางรายประยุกต์ใช้วัสดุอื่นแทนกระถางดินเผาเพื่อลดต้นทุน โดยการใช้กระบอกไม้ไผ่แทน โดยเขาจะมีเทคนิคคือ ตัดกุยช่ายแล้วปล่อยให้เจริญเติบโตไปประมาณ 25 วัน แล้วใช้กระบอกไม้ไผ่ครอบประมาณ 10 วัน ก็จะได้กุยช่ายขาวที่ขาวอวบ กรอบ อร่อย เหมือนกัน แถวยังลดต้นทุนอีกด้วย
ผลผลิตและราคาของกุยช่าย
ราคาและปริมาณการผลิตกุยช่ายนั้นขึ้นอยู่กับฤดูกาล อย่าง หน้าร้อนจะได้ดอก 180 กก.ต่อ 1 ไร่ต่อการเก็บเกี่ยว 3 วัน หน้าฝนก็เช่นกัน ส่วนหน้าหนาวดอกจะได้ 6 กก.ต่อ 1 ไร่ต่อ 3 วัน ส่วนต้นหรือใบหน้าร้อนจะได้ปริมาณ 4 ตันต่อไร่ ตัดทุก 2 เดือน หน้าฝนต้นหรือใบจะได้ 6 ตันต่อไร่ตัดทุก 2 เดือน หน้าหนาวจะได้ 8 ตันต่อไร่ ตัดทุก 2 เดือน ส่วนราคาใบและต้น หน้าหนาวจะอยู่ที่ 12 บาทต่อกก. หน้าฝนจะได้ 27 บาทต่อกก. หน้าร้อน 25 บาทต่อกก. ราคาดอกหน้าหนาว 60 บาทต่อกก.หน้าฝนดอกราคา 40 บาทต่อกก.หน้าร้อน 30 บาทต่อกก. ส่วนกุยช่ายขาวนั้นราคาจะแพงหน่อย อยู่ที่ 70-100 บาทต่อกิโลกรัมเลยทีเดียว