Site icon วีดีโอ เกษตร VDO Kaset

วิธีปลูกต้นอ่อนข้าวสาลี สรรพคุณช่วยโรคมะเร็ง

วิธีปลูกต้นอ่อนข้าวสาลี สรรพคุณช่วยโรคมะเร็ง

ต้นอ่อนข้าวสาลี ( Wheatgrass ) เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีในกลุ่มผู้ป่วย โดยเฉพาะโรคมะเร็ง และกลุ่มคนรักสุขภาพ ด้วยการนำมาคั้นน้ำต้นอ่อนดื่มสดๆ แต่วิธีการใช้ประโยชน์จากต้นอ่อนข้าวสาลีนั้น เป็นเหตุจูงใจให้ผู้เขียนนำเสนอวิธีการปลูกต้นอ่อนข้าวสาลีไว้ใช้ประโยชน์ด้วยตนเอง หรือถ้าสนใจจะปลูกเป็นอาชีพ ก็นำไปดัดแปลงให้เหมาะสมได้ จากวิธีการที่นำมาฝาก

ต้นอ่อนข้าวสาลี

การเพาะต้นอ่อนข้าวสาลี
สายพันธุ์เมล็ดข้าวสาลี แนะนำให้ใช้ เมล็ดข้าวสาลี พันธุ์ฝาง-60 เป็นพันธุ์ผสม เหมาะกับสภาพดินฟ้าอากาศในบ้านเรา และให้ผลผลิตดีกว่าเมล็ดพันธุ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ

อุปกรณ์
– ถาดเพาะกล้าพลาสติก ขนาดกว้าง 30 เซนติเมตร ยาว 60 เซนติเมตร และสูง 3.5 เซนติเมตร หรือใช้กระบะไม้
– หรือวัสดุเหลือใช้อื่นๆ ที่มีรูระบายน้ำ

– กระสอบพลาสติกสาน หรือผ้าฟาง

– เมล็ดพันธุ์ข้าวสาลี

– วัสดุปลูก ใช้ ขุยมะพร้าว ผสม แกลบ

วิธีการเพาะต้นอ่อนข้าวสาลี (วิธีนี้ใช้ปลูกเป็นอาชีพได้)
1. นำเมล็ดข้าวสาลีแช่น้ำ 1 คืน โดยเปลี่ยนน้ำ 2 ถึง 3 ครั้ง ถ้าน้ำขุ่น เพื่อป้องกันการบูดเน่า เมล็ดที่พร้อมจะนำไปปลูกจะสังเกตเห็นจมูกข้าวสีขาวที่เมล็ด

2. เตรียมวัสดุปลูกใส่ในถาดเพาะพอประมาณ

3. โรยเมล็ดที่แช่น้ำแล้วบนวัสดุปลูกในถาดที่เตรียมไว้ อย่าให้เมล็ดทับซ้อนกันเป็นกระจุก จะทำให้เกิดเชื้อรา ถาดเพาะขนาดที่กำหนดนี้ ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวสาลี 1 กิโลกรัม เพาะได้ประมาณ 7 ถึง 8 ถาด

4. โรยวัสดุปลูกทับเมล็ดพันธุ์ข้าวสาลีบางๆ แล้วรดน้ำพอชุ่ม (ไม่แฉะ ไม่ขัง แค่วัสดุปลูกเปียกหรือชื้นเท่านั้น)

5. ใช้ผ้าฟาง หรือกระสอบพลาสติกสานปิดถาดเพาะไว้เพื่อความชุ่มชื้น ไม่ควรใช้หนังสือพิมพ์หรือถุงดำเพาะมีสารพิษ วางไว้ในที่ร่ม อากาศถ่ายเท

6. เปิดผ้าฟางรดน้ำทุกวัน วันละ 1 ครั้ง แล้วปิดไว้อย่างเดิม ทำเช่นนี้ทุกวันจนเห็นใบอ่อนข้าวสาลีงอกออกมาสูงประมาณ 2 เซนติเมตร เปิดและเก็บผ้าฟาง(ไว้ใช้ครั้งต่อไป ระยะนี้ ต้นอ่อนข้าวสาลี ควรได้รับแสงแดดรำไรๆ เพื่อได้สังเคราะห์แสงเพิ่มคลอโรฟิลล์มาก

***การรดน้ำ ควรเป็นช่วงเช้า เพราะอากาศไม่ร้อน และพืชได้นำไปใช้ในการเจริญเติบโตได้ดีกว่าเวลาอื่น***

7. เมื่อต้นอ่อนจากเมล็ดข้าวสาลีสูงประมาณ 8 นิ้ว หรือมีอายุประมาณ 7 วัน สามารถตัดใบไปคั้นน้ำรับประทานได้ โดยใช้มือรวบต้นอ่อนข้าวสาลีเบาๆ แล้วใช้กรรไกรสะอาดตัดโคนต้นอ่อนเหนือดินประมาณ ½ นิ้ว ล้างให้สะอาด ถ้านำไปจำหน่าย เมื่อล้างสะอาดแล้ว ใช้มือกำต้นอ่อนข้าวสาลีพอประมาณ ไม่แน่นจนเกินไปเพื่อไม่ให้ต้นอ่อนช้ำ สลัดน้ำออกจนสังเกตเห็นว่าแทบไม่มีหยดน้ำกระเด็ด วางพักไว้ให้สะเด็ดน้ำ บรรจุใส่ถุงจำหน่ายถุงละ 50 บาท ต่อน้ำหนัก 104 กรัม (ต้นอ่อนข้าวสาลี 100 กรัม คั้นน้ำได้ 60 ซีซี)

8. หลังจากตัดเสร็จรดน้ำต่อไปทุกวัน อีกประมาณ 5 ถึง 7 วัน สามารถตัดใบไปทำน้ำคั้นรุ่นที่ 2 ได้อีกครั้ง แต่สารอาหารจะลดลง แต่สามารถนำไปให้สุนัขและแมวกินได้ หรือนำไปทำปุ๋ยหมัก ไม่ยากเลยสำหรับการเพาะต้นอ่อนข้าวสาลี ลองทำกันเลยนะคะ เพราะต้นอ่อนข้าวสาลีมีประโยชน์หลายอย่าง

ต้นอ่อนข้าวสาลี ขึ้นชื่อว่ามีประสิทธิภาพที่สุดในการล้างสารพิษในร่างกายแบบเป็นธรรมชาติ ต้นอ่อนข้าวสาลีในปริมาณ 30 กรัม มีสารอาหารเทียบเท่ากับผักใบเขียวชนิดอื่นๆ 1 กิโลกรัม ในยอดอ่อน ใบเขียวเข้มประกอบไปด้วยแร่ธาตุมากกว่า 90 ชนิด ไม่ว่าจะเป็น โพแทสเซียม, แคลเซียม, แมกนีเซียม, โซเดียม รวมไปถึงสารจำพวกเอ็นไซม์ วิตามินเอ ซี อี และกรดอมิโนที่จำเป็นอีกกว่า 19 ชนิด

1. ลดความอยากอาหาร ใช้ช่วยคุมน้ำหนัก หรือลดความอ้วนได้
เพราะต้นอ่อนข้าวสาลีเต็มไปด้วยสารอาหารนานาชนิด ทำให้ร่างกายไม่ต้องการสารอาหารเพิ่มเติม ช่วยลดความอยากอาหารได้อย่างดี ถ้าดื่มน้ำสกัดจากต้นอ่อนข้าวสาลีทุกเช้าในขณะท้องว่างยังช่วยป้องกันไม่ให้รับประทานอาหารมากเกินพอดี หรือรับประทานแทนอาหารมื้อเย็น

2. ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต
เพิ่มปริมาณอ๊อกซิเจนในเลือด ส่งผลให้เลือดหมุนเวียนได้สะดวกมากขึ้น นอกจากนั้นคุณยังสามารถใช้สำลีชุบน้ำสกัดต้นอ่อนข้าวสาลี มาถูบริเวณผิวหน้าและลำคอ เพื่อขยายหลอดเลือดกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดบนใบหน้าได้

3. เพิ่มประสิทธิภาพในการย่อยอาหาร
น้ำสกัดจากต้นอ่อนข้าวสาลีมีวิตามินจากกรดอะมิโนและเอนไซม์ ช่วยลดกรดเกินในกระเพาะอาหารและปรับปรุงระบบย่อย ช่วยล้างลำไส้ไม่ให้มีเมือกตกค้าง ไม่ต้องพึ่งพายาลดกรดเพื่อบรรเทาอาการจุกเสียดแน่นท้องหรืออาหารไม่ย่อย ดื่มได้ทุกวันโดยเฉพาะขณะที่ท้องว่าง

4. รักษาโรคไขข้ออักเสบ
ในการรักษาโรคไขข้ออักเสบ ต้นอ่อนข้าวสาลีเต็มไปด้วยสารคลอโรฟิลที่สามารถช่วยต่อต้านอาการเจ็บปวดบริเวณข้อได้เป็นอย่างดี

5. บรรเทาอาการอ่อนเพลีย
สารคลอโรฟิลจากต้นอ่อนข้าวสาลีจะช่วยเพิ่มปริมาณอ๊อกซิเจนให้กับเซลล์และเนื้อเยื่อ ช่วยฟื้นฟูรักษาเซลล์ในร่างกายและลดอาการเมื่อยล้า

6. ช่วยลดกลิ่นปากและกลิ่นตัว
การดื่มน้ำสกัดต้นอ่อนข้าวสาลี ช่วยในการดับกลิ่นตัวและกลิ่นปากได้อย่างเป็นธรรมชาติ และช่วยล้างสารพิษบนผิวหนังหรือตามร่างกายได้อีกด้วย

7. รักษาแผลบนผิวหนัง
ช่วยฟื้นฟูเซลล์ ช่วยรักษาแผลบนผิวหนังให้ประสานกันได้เร็วขึ้น โดยใช้สำลีชุบน้ำสกัดจากต้นอ่อนข้าวสาลี จากนั้นแตะเบาๆบริเวณแผล และวางบนบาดแผลทิ้งไว้ประมาณ 3 นาทีจึงหยิบสำลีออก

8. ป้องกันฟันผุ
อมไว้ในปากประมาณ 2 ถึง 3 นาที จะช่วยดึงสารพิษออกจากปากและเสริมแร่ธาตุ พร้อมป้องกันฟันผุได้เป็นอย่างดี ไม่มีอันตราย

9. ช่วยล้างพิษตับ
ช่วยในการฟื้นฟูและล้างสารพิษออกจากตับ ช่วยให้ตับสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

10. รักษาผิวหนังที่ได้รับความเสียหายจากแสงแดด
สามารถเร่งฟื้นฟูผิวหนังที่ถูกทำลายจากแสงแดดเผาไหม้ได้ เพียงแค่ทาน้ำสกัดจากต้นอ่อนข้าวสาลีลงบนผิวหนังทิ้งไว้ซักพักแล้วเช็ดออก

11. ช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือด
น้ำคั้นสดของต้นอ่อนข้าวสาลีช่วยรักษาระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด ส่งผลดีต่อผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ต้องการให้ระดับน้ำตาลคงไม่ต่ำไม่สูงจนเกินไป

12. ช่วยล้างโพรงจมูกที่ติดขัด
ดื่มหรือสูดดมน้ำต้นอ่อนข้าวสาลีสามารถช่วยล้างโพรงจมูก ขับสารพิษ รวมทั้งเสมหะและน้ำมูก ช่วยให้โพรงจมูกโล่งและปราศจากเชื้อโรค

13. ช่วยฟื้นฟูสภาพผิว
ต้นอ่อนข้าวสาลีมีความสามารถในการสร้างเซลล์ผิวใหม่ ช่วยให้ผิวดูกระจ่างใส ขจัดสิว ลดความแห้งกร้าน กลากเกลื้อน และสีผิวเปลี่ยนสีได้เป็นอย่างดี

14. ป้องกันโรคมะเร็ง
คุณสมบัติของต้นอ่อนข้าวสาลีนั้น มีประสิทธิภาพในการล้างสารพิษ ส่งผลให้เลือดสะอาด อ๊อกซิเจนและเม็ดเลือดแดงอยู่ในระดับสูง ทำให้มะเร็งที่ต้องการสภาพแวดล้อมที่อ๊อกซิเจนต่ำไม่สามารถเติบโตได้ จึงป้องกันโรคมะเร็งได้เป็นอย่างดี ผู้ป่วยที่มีภาวะโลหิตจาง พบว่าการรับประทานน้ำคั้นจากต้นอ่อนเมล็ดข้าวสาลี วันละ 30 ถึง 100 มิลลิลิตร / ซีซี ติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือนถึง 1 ปี ช่วยเพิ่มปริมาณฮีโมโกลบินในเลือดได้ และ น้ำคั้นจากต้นอ่อนข้าวสาลียังป้องกันการเกิดภาวะโลหิตจาง ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากการได้รับเคมีบำบัดหรือการทำคีโมได้ดี โดยพบว่าในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่รับประทานน้ำคั้นจากต้นอ่อนข้าวสาลี วันละ 60 มิลลิตร ตลอดระยะเวลาการได้รับเคมีบำบัด ทั้ง 3 รอบ ช่วยป้องการเกิดภาวะโลหิตจาง (anemia) ได้ดี มีผลเพิ่มปริมาณฮีโมโกลบินในเลือด โดยไม่มีผลต่อการตอบสนองการได้รับการรักษาจากเคมีบำบัดของผู้ป่วย การศึกษาในผู้ป่วยในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งที่อวัยวะต่างๆ ที่ดื่มน้ำคั้นจากต้นอ่อนข้าวสาลีวันละ 30มิลลิลิตร ติดต่อกัน 6 เดือน พบว่าช่วยเพิ่มปริมาณฮีโมโกลบิน เกล็ดเลือด และเพิ่มภูมิต้านทานได้ดี ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

15. เพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย
การดื่มน้ำสกัดจากต้นอ่อนข้าวสาลีวันละแก้ว สามารถช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันทำให้ร่างกายแข็งแรง รู้สึกกระฉับกระเฉง อีกทั้งยังสดชื่นกับรสชาติที่อร่อยได้อีกด้วย

16. ช่วยบรรเทาอาการของโรคลำไส้อักเสบได้ดี
ให้ผู้ป่วยรับประทานวันละ 100 มิลลิลิตร. ติดต่อกัน 1 เดือน ช่วยบรรเทาอาการโดยรวมของโรคให้ดีขึ้น ลดการเคลื่อนไหวของลำไส้และความถี่ของการถ่ายเป็นเลือด

ประโยชน์ของต้นอ่อนข้าวสาลีสำหรับสัตว์เลี้ยง-สุนัข แมว ฯ (รับประทานสดได้)
– มีวิตามิน แร่ธาตุ กรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายสัตว์เลี้ยง

– ช่วยต้านมะเร็งในระบบย่อยอาหาร และระบบอื่นๆ ในร่างกาย

– ช่วยขจัดก้อนขน สำหรับสัตว์เลี้ยงที่ชอบเลียขนตัวเอง เช่น แมว

– ช่วยทำความสะอาดลำไส้ และเพิ่มประสิทธิภาพการดูดซึมสารอาหารให้ดียิ่งขึ้น

– ช่วยรักษาแผลในลำไส้

– มีไฟเบอร์สูงช่วยในการขับถ่าย

– ช่วยปรับสมดุลระบบการทำงานในร่างกาย

– ช่วยขับพยาธิในลำไส้

– ช่วยลดกลิ่นมูล และ กลิ่นปาก

– ดูดซึมสารพิษในร่างกาย แล้วขับออกมาทางการขับถ่าย

เราคงไม่ต้องรอให้ป่วย หรือมีปัญหาสุขภาพ แล้วใช้น้ำต้นอ่อนข้าวสาลีคั้นสดช่วย แต่เราควรดูแลสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรงก่อนที่โรคภัยจะถามหาดีกว่า น้ำต้นอ่อนข้าวสาลีหรือน้ำวีทกราส เครื่องดื่มสีเขียวเข้ม คั้นสดจากต้นอ่อนข้าวสาลี ต้องดื่มหลังจากคั้นภายในเวลาไม่เกิน 30 นาที ถ้าหลังจากนั้น จะเสียคุณประโยชน์ของเมล็ดข้าวสาลีไป เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทุกโรคและโรคมะเร็ง ควรดื่มทุกวัน วันละ 1 ออนซ์ หรือ 1 แก้ว แต่การบริโภคต้นอ่อนข้าวสาลีในรูปแบบอื่น เช่น แบบผงหรือแบบอัดเม็ดนั้น จะแตกต่างกันออกไป คุณค่าของเอนไซม์จะไม่มีเหลือเพราะการแปรรูปด้วยความร้อน เหลือเพียงโปรตีน หรือไฟเบอร์ซึ่งไม่มีคุณค่าอย่างที่ควรจะเป็น

การคั้นน้ำต้นอ่อนข้าวสาลี
หลักสำคัญของการคั้นน้ำต้นอ่อนข้าวสาลีที่ถูกต้อง คือ ใช้เครื่องปั่นมือหมุน หรือเครื่องปั่นที่มีความเร็วรอบต่ำ หรือเครื่องคั้นต้นอ่อนข้าวสาลีโดยเฉพาะ (ไม่ควรเลือกใช้เครื่องปั่นทั่วไปที่มีความเร็วของใบมีดสูง หรือเครื่องปั่นแยกกาก) เพื่อไม่ให้ความร้อนจากใบมีดของเครื่องปั่นทำให้เกิดการสูญเสียเอนไซม์ และวิตามิน คุณค่าทางอาหารลดลง

สิ่งสำคัญ : ควรดื่มน้ำต้นอ่อนข้าวสาลีที่คั้นได้ ทันทีโดยไม่ให้เกิน 30 นาที เพราะจะทำให้เกิดการสูญเสียวิตามิน ส่วนการเก็บใบสดที่ตัดแล้ว ให้นำใส่ถุงซิปล็อคแช่ไว้ในตู้เย็นได้ไม่เกิน 3 วัน

วิธีการดื่ม
ให้ดื่มประมาณ 1 ใน 4 ของแก้ว ขณะท้องว่างหรือก่อนอาหารสำหรับคนทั่วไปที่มีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ เพียงแค่วันละหนึ่งครั้งเท่านั้น ผู้ป่วยสามารถเพิ่มปริมาณเป็น 2-3 ครั้งต่อวันได้เพื่อช่วยบำรุงร่างกายและลดอาการข้างเคียงของโรค บางรายหากดื่มมากเกินไปอาจจะทำให้รู้สึกคลื่นไส้ได้ ระยะแรก ลองผสมกับน้ำมะนาวและน้ำผึ้งสักเล็กน้อย หรือผสมน้ำแอปเปิ้ลเขียวเพื่อเพิ่มรสชาติให้ดีขึ้นกว่าเดิม ส่วนที่ต้องห้ามในผู้ป่วยบางรายที่ต้องได้รับยาปฏิชีวนะ หรืออยู่ในช่วงของการให้คีโม เด็กเล็ก หรือสตรีที่มีครรภ์ควรหลีกเลี่ยงและปรึกษาแพทย์ก่อนเพื่อความปลอดภัย ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นในระยะแรกของการดื่มน้ำต้นอ่อนข้าวสาลีคั้นสด ท้องเสีย, ปวดเมื่อยตามตัว, มีเสมหะ, คลื่นไส้, อาเจียน, ผายลม หรือเรอบ่อย

การดูแลต้นอ่อนข้าวสาลี
ถึงแม้ว่าการเพาะต้นอ่อนข้าวสาลี จะใช้เวลาเพียง 7 วันเป็นอย่างน้อย ก็สามารถตัดมารับประทานได้แล้วก็ตาม แต่ระหว่างที่ต้นอ่อนข้าวสาลีกำลังเจริญเติบโตอยู่ในถาดเพาะ 7 วันนั้น ก็อาจเกิดปัญหา หรือความเสียหายได้ และทุกปัญหาที่เกิดขึ้นต้องแก้ไขอย่างทันทีทันใด เพื่อไม่ให้ลุกลามหรือเสียหายหนัก

ปัญหาแมลงรบกวน
– หมั่นสำรวจ และจับไปทำลาย

– ปัญหาหนู และนก หรือสัตว์อื่นๆ ที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อต้นอ่อนข้าวสาลีได้ ปัญหานี้เป็นเรื่องเล็กน้อย สำหรับการปลูกไว้รับประทานเอง แต่ถ้าปลูกเป็นอาชีพ ควรป้องกันตั้งแต่เริ่มต้น

– โดยการสร้างโรงเรือนที่มิดชิดแต่อากาศถ่ายเทได้สะดวก โดยขึงตาข่ายกันสัตว์เหล่านี้ไม่ให้เข้าไปสร้างความเสียหาย

– ใช้ซาแรน หรือวัสดุพรางแสง ขึงทับตาข่ายทุกด้าน เพื่อให้ต้นอ่อนได้รับแสงแดดรำไรและกันแมลง

ปัญหาที่อาจเกิดในแต่ละฤดู มีดังนี้
– ฤดูฝน – ฝนตกชุก มีความชื้นสูง มีความร้อนอบอ้าว มีน้ำค้างมาก อาจเกิดโรคเหลือง ใบเหลืองเหี่ยว หรือเกิดเชื้อรา หรือปัญหาโคนเน่า ควรรดน้ำให้น้อยลง สังเกตความชื้นที่วัสดุปลูกด้วยนิ้วมือ หากสัมผัสลงไปในวัสดุปลูกแล้วมีความเปียกชื้น ก็ยังไม่จำเป็นต้องรดน้ำ หากพบว่าปัญหาเกิดขึ้น หรือมีแพสีขาวคล้ายสำลี หรือวงสีน้ำตาลในถาดปลูก ให้รีบแก้ไขโดยทันทีเพื่อป้องกันการลุกลาม โดยดึงหรือแซะต้นอ่อนและวัสดุปลูกบริเวณที่เกิดอาการทิ้ง

– ฤดูร้อน – ปัญหาเยอะกว่าฤดูอื่น อุณหภูมิสูง วัสดุปลูกจะแห้งเร็ว ต้นเหี่ยวเหลืองง่าย ให้รดน้ำเพิ่ม หากเกิดปัญหาเชื้อราก็ให้รีบแก้ไขกำจัด

– ฤดูหนาว – ดูแลง่าย ไม่มีโรค ไม่มีปัญหาโคนเน่า และเจริญเติบโตได้ดี เพราะต้นอ่อนข้าวสาลีชอบอากาศเย็น

***การเพาะต้นอ่อนข้าวสาลี เป็นการปลูกพืชแบบปลอดสาร ไม่มีการใช้สารเคมี ไม่มีการให้ปุ๋ยบำรุง เพียงแค่รดน้ำวันละครั้ง และดูแลเอาใจใส่อย่างดี เท่านี้ ก็จะได้ต้นอ่อนข้าวสาลีที่อุดมไปด้วยสารอาหารและคุณประโยชน์***

แหล่งข้อมูล: www.dailyhappylife.com, www.pharmacy.mahidol.ac.th, www.sunflowersprout.com, www.youtube.com (ต้นอ่อนข้าวสาลี ปลูกอย่างไรให้เป็นอาชีพ (ช่วงวีกเอนด์ฟาร์ม): มติชน วีกเอนด์ 3 ก.ค.59, ตะวันรุ่ง: สโรชา หวังดี ‘ต้นอ่อนข้าวสาลี กับเทรนด์เพื่อสุขภาพ’

Exit mobile version