การป้องกัน-กำจัด โรคและแมลงศัตรู ‘มะกรูด’

การป้องกัน-กำจัด โรคและแมลงศัตรู ‘มะกรูด’

มะกรูด จะอยู่ในกลุ่มของพืชตระกูลส้ม ในปัจจุบันเกษตรกรผู้ปลูกมะกรูดส่วนใหญ่นิยมใช้สูตร 1-4-7 ในการป้องกันและกำจัด

คือ เมื่อมะกรูดแตกยอดอ่อน ให้นับเป็นวันที่ 1 เริ่มทำการฉีดพ่นด้วยยากลุ่มกำจัดหนอนชอนใบผสมกับสารจับใบเพื่อตัดวงจรของแมลง หลังจากนั้น เมื่อเข้าสู่วันที่ 4 ให้ปฏิบัติตามวิธีเดียวกันกับวันที่ 1 เพื่อรักษาใบอ่อน และเมื่อเข้าสู่วันที่ 7 ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกันกับวันที่ 1 และ 4 แต่ให้เพิ่มตัวยากำจัดกลุ่มเพลี้ยเข้าไปตามสมควร เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น และในส่วนของ โรคและแมลงศัตรูมะกรูด มีสาเหตุ อาการ และการกำจัด ดังนี้

โรคมะกรูด

โรคแคงเกอร์ มะกรูด

โรคแคงเกอร์
มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย เข้าทำลายใบอ่อน กิ่ง และผล จะสังเกตเห็นจุดฉ่ำน้ำใสๆ ขนาดประมาณหัวไม้ขีดไฟ ขยายใหญ่และทำให้เป็นแผลตกสะเก็ดนูนสีน้ำตาลอ่อนถึงแก่ แผลจะขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เป็นวงซ้อนกัน ต่อมาใบ กิ่ง และผลจะเหลือง แห้ง และหลุดร่วงไป พบระบาดในช่วงฝนตกติดต่อกัน อากาศชื้น หรือช่วงที่มะกรูดแตกใบอ่อน เกิดจากแผลที่ถูกหนอนชอนใบเข้าทำลาย ในขั้นรุนแรง ผลอาจจะแตกเป็นแผลมียางไหลลุกลามไปยังใบ ใบหลุดร่วง กิ่งแห้ง และต้นตายในที่สุด


การป้องกันและกำจัด
– ให้เก็บใบ กิ่ง และผลที่เกิดโรคแคงเกอร์ไปเผาทำลายทันทีที่พบ

– ฉีดพ่นน้ำส้มควันไม้ที่ตกตะกอนแล้ว ในอัตรา 150 ถึง 200 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ทุกครั้งที่มะกรูดแตกใบอ่อน โดยเฉพาะช่วงฝนตกติดต่อกันให้พ่นทุกๆ 5 ถึง 7 วัน

– สามารถฉีดพ่นด้วยสารประกอบทองแดง เช่น คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ หรือคอปเปอร์ไฮดรอกไซด์ผลสีน้ำเงิน ในอัตรา 50 ถึง 70 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ทุกครั้งที่มะกรูดแตกใบอ่อนหรือฝนตกชุกทุกๆ 7 ถึง 10 วัน ต่อครั้ง และควรผสมสารจับใบช่วยป้องกันการชะล้างของน้ำฝน

โรคกรีนนิ่ง (ใบแก้ว) พืชตระกูลส้ม

โรคกรีนนิ่ง (ใบแก้ว)
เกิดจากเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ รูปร่างทรงกระบอกหรือทรงกลม เข้าทำลายให้เกิดอาการใบด่างหรือใบเหลืองสลับเขียว คล้ายกับอาการขาดธาตุอาหาร ใบม้วนงอ เนื้อใบแข็งกรอบ ใบที่แตกใหม่มีขนาดเล็กลง มีเพลี้ยกระโดดเป็นพาหะ หรือแพร่ระบาดโดยกิ่งพันธุ์ที่นำมาปลูก

การป้องกันและกำจัด
– เลือกกิ่งพันธุ์ที่ปราศจากโรค


– ให้ปุ๋ยอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะธาตุสังกะสี

– เก็บส่วนที่เป็นโรคไปเผาทำลาย

– ฉีดพ่นด้วยน้ำส้มควันไม้ หรือสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา และยาฆ่าแมลงพร้อมกันกับโรคแคงเกอร์

โรคราดำ
เกิดจากเชื้อรา จะสังเกตเห็นคราบสีดำคล้ายเขม่าปกคลุมใบ ทำให้ใบไม่สามารถสังเคราะห์แสง ไม่ผลิดอกออกผลหรือทำให้ดอกและผลหลุดร่วง มักพบระบาดในฤดูฝน เชื้อจะแพร่ไปตามลมและมีแมลงเป็นพาหะ

การป้องกันและกำจัด
– ตัดแต่งกิ่งให้ทรงพุ่มโปร่ง

– ฉีดพ่นด้วยสารเคมีคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ ผสมยาฆ่าแมลงไซเปอร์เมทริล หรืออะบาเม็กติน หรือน้ำส้มควันไม้ 1 ส่วน ต่อน้ำ 150 ส่วน หรือ 150 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร พร้อมกับการป้องกันโรคแคงเกอร์ หรือฉีดพ่นทุกครั้งที่มะกรูดแตกใบอ่อน ออกดอก และติดผล


โรคสแค็บ
เกิดจากเชื้อรา อาการคล้ายโรคแคงเกอร์ พบมากบนใบ กิ่ง และผล แต่ไม่มีวงสีเหลืองล้อมรอบแผล แผลตกสะเก็ดแข็งคล้ายแผลหูด ขรุขระ นูนด้านใต้ใบและบนผลอย่างชัดเจน พบมากในระยะแตกใบอ่อนและมีฝน ความชื้นในอากาศสูง ทรงพุ่มทึบ

การป้องกันและกำจัด
– ตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง ให้ได้รับแสงแดดถึงโคนต้น

– ตัดกิ่งที่เป็นโรคไปเผาทำลาย

– ควบคุมกำจัดวัชพืชบริเวณใต้ทรงพุ่มและแปลงปลูกเพื่อลดความชื้น

– ฉีดพ่นสารเคมีกำจัดโรค

โรคทริสเตซ่า พืชตระกูลส้ม

โรคทริสเตซ่า
เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสทริสเตซ่า(Citrus Tristeza Virus – CTV) ที่สำคัญที่สุดของพืชตระกูลส้ม ความรุนแรงของโรคนี้จะขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อที่เข้าทำลาย จากรายงานในต่างประเทศว่าการแพร่ระบาดของโรคนี้มีเพลี้ยอ่อนส้ม (Black Citrus Aphid, Toxoptera citricidus Kirkaldy) และเพลี้ยอ่อนชนิดอื่นๆ อีกหลายชนิดเป็นแมลงพาหะถ่ายทอดโรค แต่ในประเทศไทยการแพร่ระบาดของโรคนี้เกิดขึ้นโดยการติดไปกับกิ่งตอนจากต้นที่เป็นโรค โรคนี้มักระบาดในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเกิดโรค ได้แก่ การใช้กิ่งตอนจากต้นหรือแหล่งที่มีโรคนี้ระบาด การระบาดของแมลงพวกเพลี้ยอ่อนส้ม ต้นมะกรูดมีสภาพอ่อนแอ ไม่สมบูรณ์หรือให้ผลผลิตมากเกินไป โรคทริสเตซ่ามักเป็นโรคกรีนนิ่งด้วย มีอาการที่สังเกตได้ง่ายจากใบอ่อนที่แตกใหม่มีขนาดเล็กลง บิดเบี้ยวผิดรูปทรง ใบมีสีซีด สีเหลือง หรือด่าง คล้ายอาการขาดธาตุอาหาร ผลหลุดร่วง ต้นโทรมและแห้งตายได้ในที่สุด

การป้องกันและกำจัด
– เลือกใช้กิ่งพันธุ์ที่ปลอดโรค และที่มีความต้านทานโรค

– ใช้สารเคมีควบคุมและกำจัดเพลี้ยอ่อน ในช่วงที่มีการระบาด เช่น สารเมตซีสท้อกซ์อาร์ อัตรา 20 ถึง 30 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร


– ดูแลต้นมะกรูดให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยการให้น้ำ ปุ๋ย และสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชตามความจำเป็นและเหมาะสมกับแหล่งที่ปลูก

– ควรขุดถอนต้นที่เป็นโรคไปเผาทำลายเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค

แมลงศัตรูมะกรูด

หนอนชอนใบมะกรูด

หนอนชอนใบ
เป็นหนอนผีเสื้อกลางคืน ไม่มีขา ตัวสีเขียว ขนาดเล็กเท่าหัวไม้ขีดไฟแต่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า หนอนชอนใบนี้เป็นแมลงศัตรูตัวสำคัญของพืชตระกูลส้ม พบระบาดมากในฤดูฝนตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ต้นมะกรูดแตกใบอ่อนหลายครั้ง มะกรูดที่ถูกหนอนชอนใบเข้าทำลายเฉพาะใบอ่อนเท่านั้น โดยจะปรากฎให้เห็นรอยชอนไชเป็นทางขาวใสวนไปมาบนผิวใบอ่อน ทำให้ใบบิดเบี้ยวผิดรูปทรง และเป็นสาเหตุให้เกิดโรคแคงเกอร์

การป้องกันและกำจัด
ให้ฉีดพ่นน้ำส้มควันไม้ในอัตรา 150 ถึง 200 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ทุกครั้งที่มะกรูดแตกใบอ่อนหรือจะใช้สารเคมีอะบาเม็กตินฉีดพ่นทุกครั้งที่มะกรูดแตกใบอ่อน

เพลี้ยไฟ
เพลี้ยไฟ

เพลี้ยไฟ
ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะดูดกินน้ำเลี้ยงที่ยอดใบอ่อนและผลอ่อน ใบที่ถูกทำลายจะแข็ง เปราะ และขาดง่าย ส่วนผลที่ถูกทำลายนั้นจะแคระแกรน รูปร่างบิดเบี้ยวและชะงักการเจริญเติบโต มักพบการระบาดในฤดูแล้งหรือฝนทิ้งช่วงนาน มีสภาวะอุณหภูมิสูง


การป้องกันและกำจัด
– สำรวจโดยการเคาะใบบนกระดาษขาว หากพบให้ฉีดพ่นด้วยสารเคมีกำจัดแมลง

– ให้น้ำด้วยการฉีดพุ่มต้นให้ทั่วในฤดูร้อนหรือฤดูแล้ง

– กำจัดด้วยศัตรูธรรมชาติ คือ มวนตัวห้ำ

ไรแดง
ตัวอ่อนและตัวเต็มวันของไรแดงมักเข้าทำลายบริเวณใบที่คลี่แล้วหรือใบแก่ ทำลายเซลล์ผิวใบ ทำให้ใบเป็นสีเขียวจางหรือซีด หน้าใบกระด้าง เป็นคราบผงคล้ายฝุ่นสีขาวปกคลุม ไรแดงดูดกินน้ำเลี้ยงที่ผลอ่อน ทำให้สีผิวของผลซีดลงและดูกระด้าง มักพบระบาดในฤดูแล้งหรือฤดูฝนที่ฝนทิ้งช่วงนาน หรืออากาศร้อนขึ้น การใช้ผ้ายางปิดคลุมบริเวณโคนต้นเพื่อป้องกันวัชพืชก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ไรแดงขึ้นมาหากินที่ใบของมะกรูดได้เนื่องจากใต้ผ้ายางจะมีความชื้นลดลงช่วงฤดูร้อน

การป้องกันและกำจัด
– สำรวจต้นมะกรูด ด้วยแว่นขยายหรือตรวจดูสีของใบมะกรูดว่าซีดจางผิดปกติหรือไม่ หากพบไรแดงให้ฉีดพ่นด้วยผงกำมะถัน หรือสารกำจัดไรแดงทั่วไป เช่น อิมิดาคลอพริด และโพรพาไกต์ เป็นต้น ต้องใช้หัวพ่นที่มีขนาดเล็กละอองเป็นฝอยฟุ้งทั่วถึงในการฉีดพ่น และควรฉีดพ่นสารเคมีชนิดอื่นสลับกันไปจะทำให้การระบาดลดลง

– แปลงปลูกต้องมีการระบายอากาศพื้นผิวได้ดีมีความชื้นเหมาะสม ในช่วงฤดูร้อนความชื้นจะลดลงอย่างมาก


สูตรกำจัดหนอนชอนใบและแมลงศัตรูมะกรูด แบบไร้สารเคมี

วิธีทำ
– ใช้ยาฉุน 1 กิโลกรัม แช่น้ำ 15 ลิตร เป็นเวลา 1 คืน

– คั้นเอาเฉพาะน้ำ 1 ลิตร ผสมน้ำเปล่า 20 ลิตร ผสมน้ำกะทิ เพื่อเป็นสารจับใบครึ่งแก้ว ป้องกันและกำจัดหนอนชอนใบและแมลงต่างๆได้ดี

ที่มา : M-Group

Top