การปลูกมะเขือเทศ (แบบละเอียด)
มะเขือเทศ เป็นพืชที่นิยมรับประทานสด และเป็นส่วนประกอบของอาหารทุกๆ ชาติ สำหรับประเทศไทย มะเขือเทศ มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก ด้วยความอุดมของคุณค่าทางอาหารที่ประกอบด้วย วิตามิน เอ วิตามิน ซี โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม และแร่ธาตุอื่นๆ อีกหลายชนิด หากเกษตรกรเลือก มะเขือเทศ มาปลูกเป็นพืชหมุนเวียนเพื่อเพาะปลูกสลับกับพืชหลักในพื้นที่แล้ว ยังจะได้รายได้เสริมจากผลผลิตของมะเขือเทศอีกด้วย
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
มะเขือเทศเป็นพืชล้มลุก ที่มีอายุได้ถึง 1 ปี
– ลำต้น เป็นลำต้นตั้งตรง เป็นพุ่ม มีขนอ่อนๆ ปกคลุมทั่วทั้งลำต้น
– ใบ เป็นใบประกอบ ออกสลับกัน ปลายใบแหลม ขอบใบหยักคล้ายฟันเลื่อย มีขนปกคลุมใบ
– ดอก ออกดอกเป็นช่อ หรือดอกเดี่ยวบริเวณซอกใบ ดอกสีเหลือง
– ผล เป็นผลเดี่ยว มีขนาดและรูปร่างต่างกันตามสายพันธุ์ มีขนาดตั้งแต่ 3 เซนติเมตร จนถึง 10 เซนติเมตร มีรูปร่างกลม กลมแบน หรือกลมรี ผิวผลเป็นมัน ผลดิบมีสีเขียว หรือสีเขียวอมเทา เมื่อสุกจะมีสีเหลือง สีส้ม สีแดง หรือสีม่วงดำ เนื้อผลฉ่ำน้ำ มีรสเปรี้ยวอมหวาน
– เมล็ด มีจำนวนมากอยู่กลางผล
พื้นที่ที่เหมาะสม
– ปลูกได้ในดินแทบทุกชนิด ดินที่เหมาะสมที่สุดคือ ดินร่วน
– ดินที่มีอินทรียวัตถุสูง
– พื้นที่ที่ระบายน้ำได้ดี น้ำไม่ท่วมขัง
– มีค่าความเป็นกรดเป็นด่าง หรือ ค่า pH ในดินประมาณ 6 ถึง 6.8
– มีความชื้นในดินที่เหมาะสม
– ได้รับแสงแดดเต็มที่ตลอดทั้งวัน
ฤดูกาลที่เหมาะสม
นิยมปลูกในฤดูหนาว ซึ่งเป็นฤดูปลูกที่เหมาะสมที่สุด หยอดเมล็ดเพาะกล้าอยู่ระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม ซึ่งนอกจากสภาพอากาศจะเหมาะสมต่อการติดผล ก็จะทำให้ได้ผลผลิตสูงแล้วยังมีศัตรูพืชรบกวนน้อย ต้นทุนการผลิตจึงต่ำกว่าการปลูกในฤดูอื่น สภาพอากาศค่อนข้างเย็น แต่ถ้าอุณหภูมิกลางคืนสูงกว่า 22 องศาเซลเซียส จะทำให้มะเขือเทศไม่ติดผลหรือติดผลได้น้อยมาก
ฤดูฝนและฤดูร้อน นั้นมะเขือเทศจะเจริญเติมโตไม่ได้ อาจจะทำให้ผลผลิตต่ำ เนื่องจากมีโรคแมลงรบกวน
ฤดูฝนและความชื้นสูงเป็นสาเหตุสำคัญทำให้โรคทางใบและทางรากระบาดรุนแรง
ชนิดและสายพันธุ์
ชนิดของมะเขือเทศ แบ่งตามการใช้ประโยชน์ได้ 2 ชนิด
1. ชนิดที่ใช้รับประทานสด—มีทั้งแบบผลเล็กและผลโต แบบผลเล็กนิยมที่มีสีชมพูมากกว่าสีแดง แบบผลโตมักมีผลทรงกลมคล้ายแอปเปิ้ล ผลสีเขียว เมื่อสุกจะสีแดงจัด เนื้อหนาแข็ง เปลือกไม่เหนียว มีจำนวนช่องในผลมากและไม่กลวง พันธุ์ที่ใช้รับประทานสดนี้มีอยู่หลายสายพันธุ์
2. ชนิดที่ส่งโรงงาน –มีคุณสมบัติคล้าย ๆ กันคือ เป็นพันธุ์ที่สุกพร้อมกันเป็นส่วนใหญ่ ขั้วผลสุกมีสีแดงจัดตลอดผล ไส้กลางผลสั้นเล็ก และไม่แข็ง ผลควรจะแน่น แข็ง เปลือกหนาและเหนียว เพื่อจะได้ขนส่งได้ในระยะทางไกล ๆ และเก็บไว้ได้นานโดยไม่เน่าเสีย ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ด้วยกัน
สายพันธุ์มะเขือเทศ
มะเขือเทศมีหลายสายพันธุ์ เช่น พันธุ์สีดา พันธุ์ลูกท้อ พันธุ์โรมาเรดเพียร์ พันธุ์ราชินี และพันธุ์บิ๊กบีฟ เป็นต้น
ขั้นตอน การปลูกมะเขือเทศ
การปลูกมะเขือเทศนั้น ทำได้โดยการเพาะกล้า และการหยอดเมล็ดลงแปลงปลูกโดยตรง
วิธีการเพาะกล้า
1. การเตรียมเมล็ดพันธุ์และบ่มเมล็ด
นำเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศ แช่ในน้ำสะอาด 1 ลิตร โดยให้เมล็ดทุกส่วนถูกน้ำ แช่ทิ้งไว้ 20 นาที นำเมล็ด มาวางในกระดาษเพาะกล้าหรือผ้าขาวบางชุบน้ำมาดๆ ไม่ควรวางเมล็ดหนาแน่นเกินไป จากนั้นห่อเมล็ด และห่อกระดาษเพาะเมล็ดอีกครั้งด้วยถุงพลาสติกใสหรือถุงใส่แกง เก็บในที่อุณหภูมิ 28 ถึง 30 องศาเซลเซียส โดยใส่ในภาชนะที่มิดชิด เช่น กระติกน้ำเพื่อรักษาอุณหภูมิ นานประมาณ 24 ชั่วโมง
2. การเพาะกล้า
บรรจุวัสดุเพาะกล้า (พีทมอส) ลงในถาดเพาะกล้าขนาด 104 หลุม ไม่แน่นเกินไป รดน้ำให้ชุ่ม หรือใช้ดินที่ย่อยละเอียดแล้วคลุกเคล้ากับปุ๋ยหมักในปริมาณที่เหมาะสม นำเมล็ดที่บ่มแล้ว มาหยอดลงในถาดเพาะโดยวางให้เมล็ดอยู่ในแนวนอนทำมุมประมาณ 45 องศา และปลายรากแทงลงวัสดุเพาะ ระวังอย่าให้รากอ่อนของเมล็ดหักหรือแห้ง กลบด้วยวัสดุเพาะกล้า แล้วกดทับเบาๆ รดน้ำให้ชุ่ม นำไปเก็บในโรงเรือนเพาะกล้า หรือบริเวณที่มีแสงแดดส่องถึง รดน้ำทุกวัน เพื่อให้วัสดุเพาะกล้าชุ่มอยู่เสมอ ถ้าแดดจัดหรือฝนตกหนัก ต้องคลุมถาดเพาะกล้าด้วยผ้าไนล่อนหรือผ้าพลาสติก เพื่อป้องกันเม็ดฝนกระแทกลำต้นหรือใบจนเป็นรอยช้ำ เป็นสาเหตุของการเกิดโรคต่างๆ ได้
3. การย้ายกล้า
ควรย้ายกล้าเมื่อมีใบแท้ 4 ถึง 5 ใบ หรืออายุไม่เกิน 25 ถึง 30 วัน หลังจากหยอดเมล็ด
ข้อควรระวัง
โรคในระหว่างการเป็นต้นกล้า คือ โรคโคนเน่า โดยเฉพาะ ช่วงที่ฝนตกติดต่อกัน ความชื้นในอากาศและผิวดินสูง สามารถป้องกันได้ด้วยการนำเศษฟางหรือเศษหญ้าที่ใช้คลุกถาดเพาะ(ถ้ามี) ออกให้หมด เพื่อให้การระบายอากาศดีขึ้น แล้วฉีดพ่นด้วยยากันรา ช่วงที่ต้นกล้ามะเขือเทศมีอายุประมาณ 17 ถึง 22 วัน ควรลดปริมาณการให้น้ำลง และให้กล้าได้รับแสงแดดอย่างเต็มที่ ต้นกล้าจะแข็งแรง ไม่อวบฉ่ำน้ำ รอดตายได้
การปลูกโดยการหยอดเมล็ดลงบนแปลงปลูกโดยตรง
ข้อเสีย
– เสียเวลาและแรงงานในการดูแลรักษา
– ใช้เมล็ดพันธุ์มากขึ้น
– ใช้ระยะปลูกแคบลง
– ควบคุมโรคและปฏิบัติงานอื่นๆ ยาก
ข้อดี
– ให้น้ำได้ง่าย
– ให้ผลผลิตดี
ระยะปลูกที่เหมาะสม คือ ระยะระหว่างแถว 1 เมตร ระยะระหว่างต้น 25 ถึง 50 เซนติเมตร ปลูก 1 เมล็ด ต่อ 1 หลุม การปลูกช่วงก่อนฤดูฝนควรเพิ่มระยะห่าง เนื่องจากมะเขือเทศเจริญเติบโตได้ดี มีทรงพุ่มสูงใหญ่กว่าฤดูอื่น
การเตรียมดินและการปลูก
ในการปลูกมะเขือเทศ การเตรียมดินเป็นขั้นตอนต้องพิถีพิถันมาก ดินควรย่อยให้ร่วนซุย ต้องระบายน้ำได้ดี ถ่ายเทอากาศได้ดี และกำจัดวัชพืชให้หมด เพราะนอกจากวัชพืชจะแย่งน้ำ อาหาร และแสงแดดของมะเขือเทศแล้ว ยังเป็นที่อยู่อาศัยของโรคและแมลงอีกด้วย ซึ่งขั้นตอนการเตรียมดินปลูกมะเขือเทศ มีดังนี้
– ขุดไถดินให้ลึกประมาณ 25 ถึง 30 เซนติเมตร ตากดินทิ้งไว้ 7 วัน
– ใส่ปุ๋ยคอกปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้วประมาณ 4 ถึง 5 ตัน ต่อไร่ คลุกเคล้าลงไปในดิน เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์และปรับปรุงสภาพทางกายภาพของดิน แล้วพรวนย่อยบนผิวหน้าดินให้มีขนาดเล็กลง
– ถ้าดินเป็นกรดควรใส่ปูนขาวเพื่อปรับปรุงดิน
– ระยะปลูกที่เหมาะสมของมะเขือเทศประเภทที่ปลูกโดยไม่ใช้ค้างใช้ระยะห่างระหว่างต้นและระยะห่างระหว่างแถวประมาณ 50×50 เซนติเมตร ส่วนประเภทที่ปลูกโดยใช้ค้างใช้ระยะประมาณ 30×70 เซนติเมตร มะเขือเทศนี้นิยมปลูกทั้งแบบแถวเดี่ยวและแถวคู่
แบบแถวเดี่ยว เหมาะสำหรับปลูกแบบไม่ใช้ค้าง ปลูกแบบในไร่ หรือนาข้าว หลังเก็บเกี่ยว
แบบแถวคู่ เหมาะกับการปลูกแบบใช้ค้าง โดยยกแปลงกว้างขนาด 1 เมตร เมื่อเตรียมกล้าและหลุมปลูกเสร็จแล้วก็ย้ายกล้าลงหลุมปลูก หรือหยอดเมล็ดลงในหลุมปลูก แล้วรดน้ำทันที
– ช่วยพรางให้ต้นกล้าด้วยใบตอง ทางมะพร้าว หรือกรวยกระดาษ ในช่วง 2-3 วัน แรก เพื่อช่วยให้ต้นกล้าตั้งตัวได้ดีขึ้น
การดูแลมะเขือเทศ หลังการปลูก
การให้น้ำ
มะเขือเทศต้องการน้ำสม่ำเสมอ ตั้งแต่เริ่มปลูกไปจนถึงผลเริ่มแก่คือ เริ่มเปลี่ยนสี หลังจากนั้นแล้วควรลดการให้น้ำลง มิฉะนั้นจะทำให้ผลแตกได้ โดยทั่วไปนิยมให้น้ำปล่อยตามร่อง การให้น้ำควรรดแค่พอชุ่ม ถ้ามากเกินไปจะทำให้ดินชื้นและเกิดโรคง่าย
การให้ปุ๋ย
– ปุ๋ยรองพื้น ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ในอัตรา 20 กรัม ต่อหลุม หรือใช้ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก ในอัตรา 2,000 กิโลกรัม ต่อไร่
– หลังจากย้ายปลูก 7 วัน, 22 วัน, 40 วัน และ 60 วัน ถ้าเป็นดินเหนียว ควรให้ปุ๋ยที่มีฟอสฟอรัสสูง เช่น ปุ๋ยสูตร 12-25-12 หรือปุ๋ยสูตร 15-30-15, ดินร่วนควรให้ปุ๋ยที่มีโพแทสเซียมสูง เช่นปุ๋ยสูตร 10-20-15 ส่วนดินทรายควรให้ ปุ๋ยสูตร 15-20-20, 13-13-21 หรือปุ๋ยสูตร 12-12-17 แต่ถ้าเป็นมะเขือเทศนอกฤดู ควรให้ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูง ปุ๋ยที่จะให้แก่ต้นมะเขือเทศควรให้ประมาณ 50 ถึง 100 กิโลกรัม ต่อไร่
***ในการให้ปุ๋ยระยะหลังการปลูก 7 วัน ถ้าเป็นพื้นที่ที่เคยปลูกผักชีมาก่อน ควรใช้ปุ๋ยสูตร 13-13-21
การพรวนดินและการกำจัดวัชพืช
เมื่อต้นกล้าตั้งตัวได้แล้วควรพรวนดินกลบโคนต้นเพื่อเป็นการเปิดร่อง ระหว่างแถวทำให้ให้น้ำได้สะดวกและช่วยกำจัดวัชพืชไปด้วย หลังจากพรวนดินครั้งแรกไปแล้ว 1 เดือน ก็ทำการพรวนดินกลบโคนต้นอีกครั้งหนึ่ง
การตัดแต่งกิ่ง
พันธุ์ที่ปลูกแบบขึ้นค้างส่วนมากเป็นพันธุ์ที่รับประทานผลสด ควรตัดแต่งกิ่งให้เหลือเพียง 1 ถึง 2 กิ่งต่อต้น เพื่อให้ผลมีขนาดใหญ่
การปักค้าง
การปักค้างมีความจำเป็นเมื่อปลูกมะเขือเทศในฤดูฝน หรือปลูกด้วยพันธุ์ที่มีการเจริญเติบโตแบบเลี้อย เป็นอย่างมาก การปักค้างมีทั้งแบบค้างเดี่ยว หรือแบบกระโจม ช่วยให้ผลผลิตของมะเขือเทศสูงขึ้นกว่าการไม่ปักค้างถึง 20 เปอร์เซ็นต์ การดูแลและเก็บเกี่ยวก็เป็นไปอย่างสะดวก
นอกจากการปักค้าง ต้องผูกต้นมะเขือเทศติดกับค้างด้วย เพื่อป้องกันการเลื้อยหรือทอดยอดไปกับดินเมื่อเกิดแขนงใหม่ ซึ่งทำให้ผลผลิตเน่า หรือเสียหายได้
โรคและแมลงศัตรูมะเขือเทศ
โรคมะเขือเทศ
โรคใบแห้ง
เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อรา ซึ่งมะเขือเทศจะมีอาการได้ทุกส่วนของลำต้น เช่น ใบฉ่ำน้ำ เนื้อเยื่อรอบ ๆ แผลมีสีเหลือง แผลมักเกิดขึ้นที่จุดหนึ่งบนขอบใบก่อนแล้วขยายกว้างขึ้นจนเกือบหมดใบแผลจะแห้งเป็นสีน้ำตาลอย่างรวดเร็ว ตามก้านใบ ลำต้น ก็มีแผลเช่นเดียวกัน ทำให้ส่วนที่เป็นนั้นเหี่ยวแห้งตายไป ส่วนผลที่เป็นโรคจะมีแผลสีน้ำตาลเช่นกัน และทำให้ผลสุก ผิวแตก มีเชื้อราเกิดขึ้นตรงรอยแยก
การป้องกันและกำจัด
– เลือกสายพันธุ์ที่มีความต้านทานโรคนี้มาปลูก
– ใช้ยาไดโฟลาแทน 80 เปอร์เซ็นต์ ฉีดพ่นทุกๆ 7 วัน และควรฉีดพ่นกันไว้ก่อนเพราะเมื่อโรคระบาดแล้วจะเสียหายรุนแรงมาก
โรคใบจุด
เกิดจากเชื้อราหลายชนิด ใบที่เป็นโรคนี้จะเกิดจุดได้หลายแบบ เช่น จุดดวงกลมสีน้ำตาล และจุดเหลี่ยม ซึ่งทำให้ใบเหลือง และแห้ง มีราขึ้นเป็นผงสีดำบนจุดด้วย
การป้องกันและกำจัด
– ควรฉีดพ่นยาป้องกันและกำจัดเชื้อราเป็นประจำ
โรคเหี่ยวเหลืองตาย
เกิดจากเชื้อรา อาการเริ่มเกิดกับใบล่าง ๆ ก่อน ใบล่างจะเหลืองแล้วลุกลามขึ้นมาบนต้น เวลากลางวัน อากาศร้อนจัดต้นจะเหี่ยว พอกลางคืนก็กลับเป็นปกติ อาการเหี่ยวจะค่อย ๆ มากขึ้น จนถึงยอดเหี่ยวตาย เมื่อถอนต้นขึ้นมาดูจะเห็นโคนต้นและรากผุเปื่อย และมีราอยู่ด้วย
การป้องกันและกำจัด
– ใส่อินทรีย์วัตถุให้เพียงพอ
– ลดการใช้ปุ๋ยเคมีให้น้อยลง
– ใส่ปูนขาวเพื่อปรับปรุงดิน
– ปลูกพืชหมุนเวียนอย่างอื่นสลับ
โรคยอดหงิก
เกิดจากเชื้อไวรัส อาการที่เป็นคือลำต้นจะแคระแกรน ใบยอดต่าง ๆ และหงิกไม่ออกดอกผล
การป้องกันและกำจัด
– ถอนต้นที่เป็นโรคนำไปเผาทิ้ง
– ให้ทำลายวัชพืชให้หมดและก่อนปลูก ควรดูแลบริเวณเพาะกล้าให้สะอาด ปราศจากวัชพืช
– ฉีดยากำจัดแมลงปากดูด เช่น แมลงหวี่ขาว โดยใช้ยาประเภทดูดซึม
แมลงศัตรูมะเขือเทศ
มะเขือเทศไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องแมลงศัตรูมากนัก แต่แมลงปากดูดเป็นตัวนำเชื้อโรคไวรัสมาสู่มะเขือเทศทำให้ใบหงิก ยอดหด ปลายยอดแหลมเรียวเล็ก สีใบซีดด่าง เมื่อเกิดอาการขึ้นแล้วจะไม่มีทางแก้ จึงควรป้องกันไว้ก่อน
การป้องกันและกำจัด
– ใช้ยาประเภทดูดซึม เช่น ฟูราดาน รองก้นหลุมก่อนปลูก ในอัตรา 1 กรัม ต่อหลุม
– ใช้ยาประเภทมาลาไธออน แลนเนท โตกุไธออน หรือซูมิโซดริน ถ้าต้นมะเขือเทศโตแล้ว
การเก็บเกี่ยวผลสด
– อายุการเก็บเกี่ยวของมะเขือเทศขึ้นอยู่กับพันธุ์โดยทั่วไปจะเก็บผลได้ เมื่อมะเขือเทศมีอายุประมาณ 70 ถึง 90 วัน อายุนับจากเริ่มปลูกถึงเก็บเกี่ยวหมด ประมาณ 4 ถึง 5 เดือน
– การเก็บผลมะเขือเทศประเภทรับประทานสดเพื่อส่งตลาดต้องเก็บในขณะที่ผลยังไม่แก่จัด ผลเริ่มเปลี่ยนเป็นสีชมพูเรื่อ ๆ เมื่อมะเขือเทศถึงตลาดก็จะเริ่มสุกพอดี
– การเก็บผลเพื่อส่งโรงงานต้องเก็บในขณะที่ผลสุกเป็นสีแดงหรือสีส้ม ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ และเก็บไม่ให้มีขั้วผลติดมาด้วย
การเก็บเมล็ดพันธุ์
– มะเขือเทศที่ไม่ใช่พันธุ์ลูกผสม ผู้ปลูกสามารถเก็บเมล็ดไว้ทำพันธุ์ได้ โดยปฎิบัติตามขั้นตอนดัง
– คัดเลือกผลจากต้นที่สมบูรณ์ปราศจากโรคและแมลงรบกวน มีผลดกและได้คุณภาพดี ตรงตามพันธุ์ เมื่อเลือกต้นที่ต้องการได้แล้วควรทำเครื่องหมายไว้เพื่อให้สังเกตได้ง่าย
– ปล่อยให้ผลสุกคาต้น
– เก็บผลมาแล้วก็ทำการแยกเมล็ดออกจากผลโดยอาจจะใช้มีดผ่าแคะเอาเมล็ดออกมา ในกรณีที่มีจำนวนน้อย แต่ถ้าต้องการเก็บเมล็ดพันธุ์ ไว้มากๆ ให้นำผลใส่กระสอบปุ๋ย แล้วเหยียบผลในกระสอบให้แตก หลังจากนั้น หมักเมล็ดไว้ 1 คืน โดยห้ามถูกน้ำเด็ดขาดมิฉะนั้นเมล็ดจะงอก
– นำเมล็ดที่หมักไว้ไปล้างน้ำจนสะอาดแล้วนำมาผึ่งบนเสื่อหรือกระด้ง อย่าตากเมล็ดบนภาชนะโลหะหรือพื้นปูน เมล็ดอาจตายได้เพราะร้อนเกินไป
– เมื่อเมล็ดแห้งดีแล้วก็ขจัดสิ่งเจือปน และเศษฝุ่นผงออกให้หมด เก็บเมล็ดใส่กระป๋องหรือถุงพลาสติก แล้วนำไปเก็บไว้ในที่ ๆ มีอุณหภูมิและความชื้นต่ำ หรือเก็บไว้ในตู้เย็น