Site icon วีดีโอ เกษตร VDO Kaset

จากชีวิตช่างไปทำเกษตร ปลูกสับปะรดพันธุ์หอมเขลางค์ แบบอินทรีย์ l รักบ้านเกิด

จากชีวิตช่างไปทำเกษตร ปลูกสับปะรดพันธุ์หอมเขลางค์ แบบอินทรีย์ l รักบ้านเกิด

คุณกฤษณะหรือช่างเอกมีความสุขกับการได้ปลูกสับปะรดขายซึ่งเป็นอาชีพเก่าของพ่อแม่ เนื่องจากเป็นอาชีพที่สร้างรายได้เลี้ยงดูครอบครัวได้เป็นอย่างดี แถมยังสามารถต่อยอดและส่งต่ออาชีพให้แก่ลูกหลานได้อีกด้วย คุณกฤษณะยืนยันว่าความสุขมีทุกหย่อมหญ้าทุกอณูในการทำการเกษตร อย่างน้อยได้อยู่กับอากาศที่ดี ได้อยู่กับอาหารที่ดี ได้อยู่กับชุมชนที่เป็นบ้านเกิด เป็นชุมชนที่ไม่ต้องแก่งแย่งแข่งขันมากมาย สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน ไม่ต้องไปดิ้นรน ไม่ต้องห่วงเรื่องเจ็ดวันอันตราย ไม่ต้องดิ้นรนกลับบ้านในช่วงเทศกาลต่างๆ ไม่ต้องแย่งกันซื้อตั๋ว ทำให้สุขภาพทั้งกายและใจดี

++++++++++

ความรู้เพิ่มเติม เกี่ยวกับ สับปะรด

สับปะรด (ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Ananas comosus) เป็นพืชล้มลุกชนิดหนึ่งที่มีต้นกำเนิดมาจากบริเวณทวีปอเมริกาใต้ ลำต้นมีขนาดสูงประมาณ 80-100 เซนติเมตร การปลูกสามารถปลูกได้ง่ายโดยการฝังกลบหน่อหรือส่วนยอดของผลที่เรียกว่า จุก เปลือกของผลสับปะรดภายนอกมีลักษณะคล้ายตาล้อมรอบผล

แต่ละท้องถิ่นเรียกสับปะรดแตกต่างกันออกไปเช่น

– ภาคกลาง เรียกว่า “สับปะรด”
– ภาคอีสาน เรียกว่า “บักนัด” (“หมากนัด”)
– ภาคเหนือ เรียกว่า “มะนัด, มะขะนัด, บ่อนัด”
– ภาคใต้ เรียกว่า “ย่านัด, หย่านัด, ย่านนัด, ขนุนทอง, มะลิ” (โดย ย่านัด หรือ หย่านัด มีที่มาจากภาษาโปรตุเกส)

ลักษณะของสับปะรด
รูปลักษณะ ไม้ล้มลุกอายุหลายปี สูง 90-100 ซม. มีลำต้นอยู่ใต้ดิน ใบเดี่ยวเรียงสลับ ซ้อนกันถี่มากรอบต้น กว้าง 6.5 ซม. ยาวได้ถึง 1 เมตร ไม่มีก้านใบ ดอกช่อออกจากกลางต้น มีดอกย่อยจำนวนมาก ผลเป็นผลรวม รูปทรงกระบอก มีใบเป็นกระจุกที่ปลาย

สับปะรดเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว สามารถทนต่อสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้ดี เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ เมื่อเจริญเป็นผลแล้วจะเจริญต่อไปโดยตาที่ลำต้นจะเติบโตเป็นต้นใหม่ได้อีก และสามารถดัดแปลงเป็นไม้ประดับได้อีกด้วย

สับปะรดแบ่งออกตามลักษณะความเป็นอยู่ได้ 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือพวกที่มีระบบรากหาอาหารอยู่ในดิน หรือเรียกว่าไม้ดิน, พวกอาศัยอยู่ตามคาคบไม้หรือลำต้นไม้ใหญ่ ได้แก่ ไม้อากาศต่าง ๆ ที่ไม่แย่งอาหารจากต้นไม้ที่มันเกาะอาศัยอยู่ พวกนี้ส่วนใหญ่จะเป็นไม้ประดับ, และพวกที่เจริญเติบโตบนผาหินหรือโขดหิน

ส่วนสับปะรดที่เราใช้บริโภคจัดเป็นไม้ดิน แต่ยังมีลักษณะบางประการของไม้อากาศเอาไว้ คือ สามารถเก็บน้ำไว้ตามซอกใบได้เล็กน้อยมีเซลล์พิเศษสำหรับเก็บน้ำเอาไว้ในใบ ทำให้ทนทานในช่วงแล้งได้ด้วย

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
สับปะรดต้องการอากาศค่อนข้างร้อนอุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 23.9-29.4℃ ปริมาณน้ำฝนที่ต้องการอยู่ในช่วง 1,000-1,500 มิลลิเมตรต่อปี แต่ต้องตกกระจายสม่ำเสมอตลอดปี และมีความชื้นในอากาศสูง

สับปะรดชอบขึ้นในดินร่วน,ดินร่วนปนทราย,ดินปนลูกรัง,ดินทรายชายทะเล และชอบที่ลาดเท เช่น ที่ลาดเชิงเขา สภาพความเป็นกรดด่าง (pH) ของดินควรเป็นกรดเล็กน้อย คือตั้งแต่ 4.5-5.5 แต่ไม่เกิน 6.0

ฤดูกาลของสับปะรด
– ช่วงเก็บเกี่ยวในฤดู ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน – มกราคม และกลางเดือนเมษายน – กรกฎาคม สับปะรดจะให้ผลผลิตมาก ในตลาดมีราคาถูก

– ช่วงเก็บเกี่ยวนอกฤดู ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – ต้นเดือนเมษายน และเดือนสิงหาคม – ตุลาคม สับปะรดจะให้ผลผลิตน้อยจึงราคาแพง

แหล่งที่ปลูกสับปะรดในไทย
เนื่องจากความทนทาน ทำให้ปลูกได้ในดินแทบทุกแห่งในประเทศไทย แหล่งปลูกสับปะรดที่สำคัญของไทยอยู่ในพื้นที่ใกล้ทะเล ได้แก่

– จังหวัดอุตรดิตถ์
– จังหวัดลำปาง
– จังหวัดพิษณุโลก
– จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
– จังหวัดเพชรบุรี
– จังหวัดชลบุรี
– จังหวัดระยอง
– จังหวัดฉะเชิงเทรา
– จังหวัดจันทบุรี
– จังหวัดตราด
– และจังหวัดต่าง ๆ ในภาคใต้ เช่น ภูเก็ต พังงา ชุมพร

พันธุ์สับปะรดที่นิยมปลูกในประเทศไทย
– พันธุ์ปัตตาเวีย หรือเรียกว่า สับปะรดศรีราชา นิยมปลูกทั่วไป ผลใหญ่ ฉ่ำน้ำ เนื้อสีเหลืองอ่อน
– พันธุ์อินทรชิต เป็นสับปะรดพันธุ์พื้นเมือง
– พันธุ์ขาว/ดำ
– พันธุ์ภูเก็ต หรือ พันธุ์สวี นิยมปลูกทางภาคใต้ ใบมีแถบสีแดงที่ตอนกลางใบ กลีบดอกสีม่วงอ่อน ผลเล็กเปลือกหนาเนื้อสีเหลืองเข้ม หวานกรอบ
– พันธุ์นางแล หรือ พันธุ์น้ำผึ้ง นิยมปลูกในจังหวัดเชียงราย ผลกลม ตานูน เปลือกบาง เนื้อสีเหลืองเข้ม รสหวานจัด
– พันธุ์ตราดสีทอง
– พันธุ์ภูแล
– พันธุ์ห้วยมุ่น
– พันธุ์เพชรบุรี ผลย่อยติดกันไม่แน่น แกะออกมารับประทานได้โดยไม่ต้องปอกเปลือก แกนผลรับประทานได้ รสหวานอมเปรี้ยว

Exit mobile version