(คลิป) เมื่อทำนาแล้วไม่ได้ผลก็เลยเปลี่ยนมาทำโคกหนองนา และปลูกป่าเพื่อลูกหลาน : วีดีโอ เกษตร
- Genres:กสิกรรม(พืช), วีดีโอทั้งหมด
(คลิป) เมื่อทำนาแล้วไม่ได้ผลก็เลยเปลี่ยนมาทำโคกหนองนา และปลูกป่าเพื่อลูกหลาน : วีดีโอ เกษตร
เมื่อทำนาแล้วไม่ได้ผลก็เลยเปลี่ยนมาทำโคกหนองนา และปลูกป่าเพื่อลูกหลาน
+++ ความรู้เพิ่มเติม +++
โคก หนอง นา โมเดล คืออะไร
“โคก หนอง นา” เป็นต้นแบบที่นำมาใช้บริหารจัดการน้ำและพื้นที่การเกษตร ผสมผสานกับภูมิปัญญาพื้นบ้าน โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วนต่าง ๆ เช่น พื้นที่สำหรับที่อยู่อาศัย พื้นที่สำหรับแหล่งน้ำ พื้นที่สำหรับเพาะปลูก พื้นที่สำหรับเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ การแบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วน ๆ นี้อาจจะแตกต่างกันไปตามความต้องการของเจ้าของพื้นที่ และความเหมาะสมของสภาพภูมิศาสตร์และสังคมนั้น ๆ
และเพื่อให้ง่ายในการอธิบายให้คนทั่วไปเข้าใจแนวคิด หลักการของวิธีการบริหารจัดการน้ำและพื้นที่การเกษตรนี้ จึงเรียกต้นแบบนี้ว่า “โคก หนอง นา โมเดล” โดยที่มาที่ไปของคำว่า มาจากส่วนหลัก ๆ ที่ประกอบกันในพื้นที่ ดังนี้
โคก
โคก ในที่นี้หมายถึงพื้นที่เพาะปลูก สร้างที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ ปลูกพืชพันธุ์ต่าง ๆ
หนอง
หนอง หมายถึงแหล่งน้ำในพื้นที่ ทั้งแหล่งน้ำที่ขุดขึ้นมาใหม่ หรืออาจจะเป็นแหล่งน้ำเก่าที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ รวมไปถึงคู คลอง ร่องน้ำต่าง ๆ ก็ถือว่าเป็นแหล่งน้ำเช่นกัน นอกจากหนองจะเป็นแหล่งน้ำไว้ใช้ในพื้นที่แล้วก็สามารถใช้เลี้ยงสัตว์น้ำได้อีกด้วย
นา
นา หมายถึงพื้นที่ทำนา เพราะอาหารหลักของคนไทยก็คือข้าว ไม่ว่าจะเป็นข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ฯลฯ
โคก หนอง นา โมเดล จึงเป็นคำที่ทำให้เห็นภาพถึงพื้นที่ ที่ประกอบไปด้วยการเพาะปลูกพืช มีแหล่งน้ำในพื้นที่สำหรับใช้อุปโภคบริโภค และที่อยู่อาศัย แต่อย่างไรก็ตาม ส่วนประกอบต่าง ๆ ในพื้นที่อาจจะแตกต่างกันไปตามความต้องการของเจ้าของพื้นที่ เช่น บางคนอาจจะไม่ได้ต้องการเลี้ยงสัตว์ หรือบางคนอาจจะไม่ได้มีแหล่งน้ำ บางคนอาจจะไม่ได้ต้องการทำนา และอาจจะแตกต่างกันไปตามสภาพภูมิศาสตร์ของพื้นที่นั้น ๆ ก็ได้
นอกจาก โคก หนอง และนาแล้ว ยังมีส่วนประกอบอื่น ๆ ที่เป็นรายละเอียดของโมเดลนี้อีก เช่น คลองไส้ไก่ ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง หลุมขนมครก ฝาย
โคก หนอง นา โมเดล สามารถบริหารและจัดการน้ำได้อย่างไร
นํ้าฝนที่ตกมาในทุก ๆ ปีช่วงหน้าฝน ถือว่าเป็นแหล่งน้ำที่มีค่ามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่ไม่ใช่ลุ่มน้ำ เช่น ภาคอีสาน หรือภาคเหนือที่เป็นพื้นที่เนินเขา
หลายพื้นที่ที่ทำการเกษตร ไม่ได้อยู่ใกล้แหล่งน้ำสาธารณะ แม่น้ำ หรือคลอง ที่จะสามารถเอาน้ำมาใช้ในพื้นที่ของตัวเองได้ และต่อให้มีแหล่งน้ำสาธารณะ ก็ไม่สามารถเอาน้ำมาใช้ได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะหลายพื้นที่ที่เป็นที่ดอนหรือเนินเขา
ดังนั้นจึงมองว่า แหล่งน้ำนอกพื้นที่ของเราเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ ไม่สามารถจะไปจัดการอะไรได้มากนัก เพราะเป็นพื้นที่สาธารณะที่ใช้ร่วมกันของคนทุกคน
แต่ถ้าเรามีแหล่งน้ำในพื้นที่ตัวเอง เป็นของตัวเอง สามารถบริหารจัดการได้เต็มที่ ก็จะสามารถคาดการณ์หรือประมาณการน้ำที่มีอยู่ เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการในพื้นที่ของเราเองได้ไม่ยาก หรืออาจจะช่ว่ยให้เราว่างแผนการปลูกพืชเพื่อให้เหมาะสมกับน้ำที่มีได้อย่างเหมาะสม
ดังนั้นจึงต้องกักเก็บน้ำฝนที่ตกลงมาในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด เพื่อที่จะได้นำมาใช้ในช่วง 7 เดือนที่เป็นหน้าร้อนและหนาว การกักเก็บน้ำของโคก หนอง นา โมเดลมี 3 วิธี คือ
เก็บน้ำไว้บนโคก
โดยการปลูกป่า เมื่อฝนตกลงมาน้ำฝนจะถูกชะลอไม่ให้ไหลช้าลง จึงมีเวลาที่จะซึมลงไปในดินมากขึ้น รากของต้นไม้จะช่วยอุ้มน้ำไว้ในดิน และในพื้นที่ควรจะปลูกพืชให้หลายหลายเพื่อสร้างความหลากหลายของระบบราก
เก็บน้ำไว้ในหนอง
ก็เหมือนกับการกักเก็บน้ำในแหล่งน้ำทั่วไป ในกรณีที่เป็นแหล่งน้ำขุดขึ้นมาใหม่ต้องมีการคำนวณปริมาตรนํ้าที่สามารถเก็บได้ในหนองเพื่อให้พอใช้งาน โดยขุดให้หนองหรือสระน้ำมีรูปร่างอิสระ คดโค้งเลียนแบบธรรมชาติ เพื่อเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกริมน้ำ และขุดให้มีความลึกหลายระดับเพื่อเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตได้
เก็บไว้ในนา
โดยยกคันนาให้สูงและกว้าง สามารถเก็บน้ำไว้มากที่สุด เป็นแหล่งอาศัยของสิ่งมีชีวิต นอกจากนี้เรายังสามารถปลูกพืชผักไว้บนคันนาได้อีกด้วย
โคก หนอง นา เหมาะกับใคร และพื้นที่แบบไหน
โคก หนอง นา โมเดล เป็นหลักการพื้นฐาน ที่สามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกคนทุกพื้นที่ แต่จะต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้อง เพื่อให้สามารถนำไปใช้ได้อย่างเหมาะสม
ทั้งหมดนี้เป็นหลักการและที่มาที่ไปของ โคก หนอง นา โมเดล ที่จะใช้เป็นตัวช่วยในการบริหารจัดการน้ำและพื้นที่การเกษตร เพื่อลดความเสี่ยงด้านต่าง ๆ เช่น ปัญหาเรื่องน้ำ ปัญหาการเพาะปลูก และช่วยให้บริหารจัดการกิจกรรมต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
เมื่อได้ทำความเข้าใจโคก หนอง นา โมเดล นี้กันแล้ว ถ้าอยากจะปรับพื้นที่ของเราโดยใช้แนวคิดของ โคก หนอง นา โมเดล ขั้นตอนต่อไปคือต้องมีการออกแบบ โคก หนอง นา โมเดล กันก่อน ซึ่งหลักการออกแบบพื้นที่นี้จะอยู่บนพื้นฐานของการออกแบบภูมิทัศน์ (Landscape Design) ถ้ามีความรู้ความเข้าใจเรื่องภูมิทัศน์พื้นฐานและการทำเกษตรมาบ้างก็สามารถออกแบบ โคก หนอง นา โมเดลได้ไม่ยากเลย
ที่มา Youtube Channel : PAKORN BUAYAM
คลิป : https://www.youtube.com/watch?v=FUf7Jxcz1Io