Site icon วีดีโอ เกษตร VDO Kaset

(คลิป) DIY วิธีปลูกสะระแหน่ในถุง และระบบรดน้ำหยดจากขวดพลาสติก : วีดีโอ เกษตร

(คลิป) DIY วิธีปลูกสะระแหน่ในถุง และระบบรดน้ำหยดจากขวดพลาสติก : วีดีโอ เกษตร

DIY วิธีปลูกสะระแหน่ในถุง และระบบรดน้ำหยดจากขวดพลาสติก

รายละเอียดจะเป็นอย่างไร ไปดูคลิปด้านบนได้เลยครับ

+++ ความรู้เพิ่มเติม +++

สะระแหน่

สะระแหน่ (Peppermint/Mint) เป็นพืชสมุนไพรตามธรรมชาติที่มีการนำใบและน้ำมันมาใช้ประโยชน์ต่อสุขภาพมาอย่างยาวนาน อีกทั้งยังใช้เป็นยาพื้นบ้านสำหรับรักษาโรคและอาการต่าง ๆ เช่น บรรเทาอาการปวด ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบย่อยอาหาร หรือใช้เป็นสารต้านเชื้อแบคทีเรีย นอกจากนี้หลายคนอาจคุ้นเคยกับรสหรือกลิ่นของสะระแหน่จากยาสีฟัน ขนม อาหารจานต่าง ๆ รวมถึงใช้เป็นสารแต่งกลิ่นในสบู่และเครื่องสำอางอีกด้วย

ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น : สะระแหน่ไทย , สะระแหน่สวน , สะระแหน่ฝรั่ง , สะระแหน่ญวน , แมงลักน้ำ , สะระแหน่ต้น , ต้นน้ำมันหม่อง (ทั่วไป),หอมด่วน, หอมเดือน (ภาคเหนือ),ขะแหยะ,ขะแยะ(ภาคอีสาน) สะแน่ , มักเงาะ (ภาคใต้),แซบ่อห่อ , กอยโซว . กิมปุ๊กห่วง (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : สะระแหน่เป็นพืชสกุล มินต์ (Mint) มีอยู่หลายชนิดแต่ชนิดหลักที่เป็นที่รู้จักและจะขอกล่าวถึงในบทความนี้ คือ
สะระแหน่ไทย : Mentha × cordifolia Opiz ex Fresen.
สะระแหน่ฝรั่ง : Mentha × piperita Linn.
สะระแหน่ญวน : Mentha × pulegium Linn.
ชื่อสามัญ : Mint , Kitchen Mint, Spearmint , pepper mint.
วงศ์ : LABIATAE – LAMIACEAE

ถิ่นกำเนิดสะระแหน่
สะระแหน่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในยุโรป และแพร่กระจายพันธุ์อยู่ทั่วไป ทั้งในยุโรปและอเมริกาเหนือ รวมทั้งในภูมิภาคอื่นๆ ของโลกโดยเฉพาะเขตร้อนและเขตอบอุ่น แล้วจึงมีการพัฒนาสายพันธุ์เองตามธรรมชาติเพื่ออยู่รอดตามสภาพอากาศของถิ่นต่างๆ ที่กระจายพันธุ์ไป หรือเกิดการผสมข้ามสายพันธุ์จนกลายมาเป็นสะระแหน่สายพันธุ์ต่างๆ เช่น สะระแหน่ไทย , สะระแหน่ฝรั่ง , สะระแหน่ญวน เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยเชื่อกันว่า สะระแหน่ถูกนำเข้ามาในเมืองไทยช่วงรัชสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่3) โดยชาวอิตาเลียนชื่อนายสะระนีด้วยเหตุนี้จึง สันนิษฐานว่าชื่อสะระแหน่มาจากชื่อนายสะระนีนั่นเอง

หนังสืออักขราภิธานศรับท์ พ.ศ.2416 ของหมอปลัดเล ซึ่งเป็นช่วงรัชกาลที่ 4 ปรากฏว่าไม่พบชื่อสะระแหน่เลยแสดงว่าขณะนั้น (2416) สะระแหน่ยังไม่เป็นที่รู้จักกันทั่วไป ซึ่งอาจเป็นเพราะสะระแหน่เพิ่งเข้ามาไม่นานก็เป็นได้ และในปัจจุบันสามารถพบสะระแหน่ไทยได้ทั่วทุกภาคของประเทศ

ประโยชน์และสรรพคุณสะระแหน่
สะระแหน่ญวนมีการนำมาใช้ประโยชน์ คือ ชาวเวียดนาม นิยมรับประทานสะระแหน่ญวน เป็นผักสดกับอาหารคาวหลากหลายชนิด โดยเฉพาะขนมจีนเวียดนามจะเพิ่มกลิ่นหอมให้รับประทานอร่อยยิ่งขึ้น และยังใช้เป็นสมุนไพรเช่นเดียวกับสะระแหน่ไทยทุกอย่างคือ ใบสดมีกลิ่นหอมร้อนกินเป็นยาขับผายลม ขับเหงื่อ ช่วยบรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ แก้ปวดท้องได้ดีมาก ใบสดขยี้ดมกลิ่นจะช่วยลดอาการหืดหอบ ลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ใบแห้งชงกับน้ำร้อนดื่มช่วยย่อยอาหาร ใบสดขยี้ทาบริเวณขมับแก้ปวดหัวหรือทาบริเวณจุดที่ฟกบวมเพื่อบรรเทาอาการ ส่วนสะระแหน่ฝรั่ง ชาวยุโรปมีการใช้ประโยชน์ โดยนำใบของสะระแหน่ฝรั่งมาใช้แต่งกลิ่นอาหารคาว หวาน ต่างๆ รวมถึงยังใช้แต่งกลิ่นในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ขนม บุหรี่ เครื่องสำอาง เป็นต้น และยังใช้เป็นยาสมุนไพรในการกระตุ้นขับลม ช่วยเสริมระบบทางเดินอาหาร และระบบย่อยอาหารใช้ลดอาการคัดจมูก ปวดศีรษะ ฯลฯ สำหรับสะระแหน่ไทย มีการนำมาใช้ประโยชน์มากมายหลายประการ เช่น คนไทยรู้จักสะระแหน่ในฐานะเครื่องปรุงกลิ่นอาหารมากกว่าในฐานะผักโดยตรง เพราะสะระแหน่มีกลิ่นรสฉุนเผ็ดกว่าผักทั่วไป จึงใช้กินเป็นผักโดยตรงไม่มากเท่าการใช้ปรุงอาหารเพื่อดับกลิ่นหรือเพิ่มรสชาติของอาหารรสจัด อาหารที่ใช้สะระแหน่กินเป็นผักโดยตรงที่นิยมกันดีก็มีเพียงใช้เป็นผักแกล้มลาบ และกินกับขนมจีนน้ำยา ปลาร้าเท่านั้น ส่วนการใช้ปรุงกลิ่นรสอาหารหรือดับกลิ่นคาวนั้นใช้กันมาก เช่น ดับกลิ่นคาวเนื้อหรือปลา กับข้าวจำพวกยำต่างๆ เช่น ยำกบย่าง ยำสามสหาย ยำหอยแครง ยำหอยแมลงภู่ ยำปลากระป๋อง ยำไข่ต้ม ยำแหนม ฯลฯ ลาบต่างๆ เช่น ลาบหมู ลาบเลือดเป็ด ลาบปลาดุก จำพวกซุป เช่น ซุปมะเขือเปราะ ซุปขนุนอ่อน ซุปหน่อไม้ เป็นต้น

และน้ำมันหอมระเหยของใบสะระแหน่ยังสามารถใช้ผสมในเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ สำหรับเป็นสารให้กลิ่น ตัวทำละลาย และใช้เพื่อป้องกันเชื้อจุลินทรีย์ หรือใช้ผสมในอาหารเพื่อยับยั้งการเติบโตของจุลินทรีย์ทำให้อาหารเก็บไว้ได้นาน รวมทั้งเพื่อปรับปรุงกลิ่นของอาหารให้มีกลิ่นหอมน่ารับประทานมากขึ้น

ส่วนสรรพคุณทางยาของสะระแหน่ไทยนั้นตามตำรายาไทยระบุว่าใบรสหอมร้อนขับเหงื่อ แก้หืด แก้ปวดท้อง ขับลมในกระเพาะลำไส้ แก้จุกเสียดแน่นเฟ้อ ปวดท้อง แก้อาการเกร็งของกระเพาะอาหารและลำไส้ พอกหรือทา แก้ปวดบวม ผื่นคัน ฆ่าเชื้อโรค ทั้งต้นและใบ ขยี้ทาขมับ แก้ปวดศีรษะ ดมแก้ลม ยาชงจากใบใช้ดื่มเพื่อช่วยย่อยอาหาร ใบขยี้ทาภายนอกแก้พิษแมลงต่อย แก้ผดผื่นคัน แก้การอักเสบของแผล

นอกจากนี้ยังเป็นกระสายแทรกแก้โรคเด็ก เช่น ซางชัก และช่วยให้ผายลมได้ดี ลดอาการท้องขึ้น ท้องเฟ้อและในบัญชียาหลักแห่งชาติยังระบุการใช้สะระแหน่ทั้งต้น ในตำรับ “ยาเลือดงาม” มีส่วนประกอบของสะระแหน่ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ แก้มุตกิดอีกด้วย

ลักษณะทั่วไปสะระแหน่
สะระแหน่ไทยจัดเป็นไม้ล้มลุกมีลักษณะเป็นลำต้นพร้อมเลื้อย มีเฉพาะรากฝอย ขนาดเล็ก และสั้น ลำต้นสูงประมาณ 15-30 ซม. ลำต้นมีลักษณะเป็นเหลี่ยม ผิวลำต้นมีสีแดงอมม่วงจนถึงปลายยอด ลำต้นสามารถแตกเหง้าเป็นต้นใหม่จนขยายเป็นกอใหญ่ และลำต้นแตกกิ่งแขนงจำนวนมาก ใบ ออกเป็น ใบเดี่ยว และออกเป็นคู่ๆ ตรงข้ามกันบนกิ่ง ลำต้น ใบมีสีเขียว รูปทรงรี กว้างประมาณ 1.5 – 3.5 ซม. และยาวประมาณ 2 – 7 ซม. ผิวใบย่นเป็นลูกคลื่น ขอบใบหยัก ปลายใบมนหรือแหลม ดอก ออกเป็นช่อ เหนือซอกใบบริเวณปลายยอด แต่ละช่อมีดอกจำนวนมาก ดอกมีสีชมพูอมม่วง ประกอบด้วยกลีบเลี้ยง 5 กลีบ และกลีบดอกที่เชื่อมติดกันเป็นกรวยตื้น 4 กลีบ ภายในดอกมีเกสรตัวผู้ 4 อัน ส่วนเกสรตัวเมียจะไม่ค่อยพบ ผล มีสีดำ ขนาดเล็ก มีรูปผลเป็นรูปกระสวย เปลือกผลเกลี้ยงมัน ทั้งนี้ ผลสะระแหน่มักไม่ติดผลให้เห็นบ่อยนัก เพราะดอกส่วนใหญ่มักจะเป็นหมันเป็นส่วนใหญ่

ส่วนสะระแหน่ญวน จัดเป็นเป็นไม้พุ่มล้มลุกอายุหลายปี แตกกิ่งก้านเยอะ ลำต้นมีขนสั้นๆปกคลุมนุ่มมือ ต้นสูงประมาณครึ่งเมตร ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงกันข้าม เป็นรูปรีกว้าง ปลายใบเกือบมน โคนใบมน ก้านใบยาวไม่สั้นเหมือนกับก้านใบสะระแหน่ไทย ผิวใบมีรอยย่นเช่นกัน ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย เนื้อใบค่อนข้างหนา สีเขียวสด ใบมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว โดยกลิ่นจะแรงเหมือนกลิ่นของตะไคร้แกง และสำหรับสะระแหน่ฝรั่งเป็นมิ้นต์พันธุ์ผสมระหว่าง สะระแหน่ไทย กับ มิ้นต์น้ำ มีลักษณะเป็นไม้พุ่มสูง 30 – 90 เซนติเมตร ใบสีเขียวยาว 4 – 9 เซนติเมตร กว้าง 1.5 – 4 เซนติเมตร มีดอกสีม่วงยาว 6 – 8 มิลลิเมตร

การขยายพันธุ์สะระแหน่
สะระแหน่สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการ ปลูกด้วยเหง้าหรือการปักชำลำต้น ซึ่งควรเลือกลำต้นที่มีความยาวประมาณ 8-10 ซม. แล้วเด็ดยอดทิ้ง ก่อนนำลงปลูก ซึ่งควรปลูกทันทีหลังการถอนต้นหรือตัดต้นมา แต่ในบางพื้นที่นำลำต้นมาแช่น้ำจนมีรากเกิดก่อนนำปลูก การปลูกมีระยะการปลูกในแต่ละต้นประมาณ 10-15 ซม. โดยปักลำต้นลงดินประมาณ 3 ซม. และหลังการปลูกแล้วรดน้ำให้พอชุ่ม

ทั้งนี้สะระแหน่ เป็นผักที่ชอบดินชื้นตลอด แต่ก็ห้ามมีน้ำขัง ดังนั้น หลังการปลูกต้องรดน้ำทุกวัน วันละ 1-2 ครั้ง จนถึงระยะที่กิ่งพันธุ์ตั้งตัวได้ ค่อยลดการให้น้ำเป็นวันเว้นวัน หลังการปลูกแล้วประมาณ 45-50 วัน สะระแหน่จะเริ่มเก็บยอดได้ การเก็บแต่ละครั้งควรใช้กรรไกรตัด เพราะหากใช้มืออาจทำให้ลำต้นถอนได้ และจะเก็บได้อีกครั้งประมาณ 15-20 วัน

ที่มา Youtube Channel : DIY Garden Ideas
คลิป : https://www.youtube.com/watch?v=DVBlMoRGHBU

Exit mobile version