วีดีโอ เกษตร : เกษตรยุคใหม่ เลี้ยงควายในโรงเรือน ห่างโรค ปลอดแมลง
- Genres:ปศุสัตว์
วีดีโอ เกษตร : เกษตรยุคใหม่ เลี้ยงควายในโรงเรือน ห่างโรค ปลอดแมลง
ธรรมชาติของควายนั้น ต้องอาศัยน้ำปลักโคลนในการดูแลผิวพรรณและระบายความร้อนออกทางผิวหนัง เพราะควายไม่มีต่อมเหงือฉะนั้นน้ำจึงเป็นตัวช่วยในการระบายความร้อนได้เป็นอย่างดี เทคนิคพิเศษของสอนศิริฟาร์มควายไทย ที่ทำให้น้องควายมีความสุขในการเลี้ยงแบบปราณีตหรือยืนโรง100% คือการทำระบบพ่นหมอกแรงดันสูง ติดตั้งระบบ Timer ให้น้ำตั้งแต่ 09:00-19:00 เป็นการระบายความร้อนให้ควายในโรงเรือนทั้ง 300 ตัว และอีกอย่างคือฟ้าเพดานที่ยกสูงและช่วยป้องกันความร้อนด้านบน ทำให้อากาศโล่ง ทำให้ควายเย็นขึ้น ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้แล้วได้ผลดีมาก ควายมีความสุข สุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคและแมลงรบกวน
+++ ความรู้เพิ่มเติม +++
ประวัติควายไทย
“ควาย” เป็นสัตว์ขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง ที่มีความผูกพันธ์กับมนุษย์มาแต่สมัยดึกดำบรรพ์ จากหลักฐานภาพเขียนก่อนยุคประวัติศาสตร์ของมนุษย์โบราณ ปรากฏภาพควาย ปลา และสัตว์ป่าบางชนิด เขียนอยู่ตามถ้ำต่าง ๆ โดยทั่วไปแสดงให้เห็นว่าควายเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญในชีวิตประจำวันของมนุษย์มาแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์
ในประเทศไทยเชื่อว่า “ควาย” มีบทบาทสำคัญ เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนไทย ใช้เป็นแรงงานเพื่อการเกษตร การขนส่งและการคมนาคม แม้แต่ในการสงครามยังใช้ควายเป็นพาหนะในการต่อสู้ข้าศึก เช่น การต่อสู้ของชาวบ้านบางระจัน
เดิมควายเป็นสัตว์ป่า เหมือนสัตว์ป่าทั่วไป แต่โดยสัญชาติญาณเป็นสัตว์ที่สามารถฝึกฝน ทำให้เชื่องได้ มนุษย์จึงนำมาเลี้ยง ฝึกฝน จนเชื่องและนำมาใช้แรงงาน จึงเป็นจุดเริ่มต้นของความรักความผูกพัน ระหว่างมนุษย์กับควายสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน คนไทยใช้แรงงานจากควาย มาแต่ยุคสร้างอาณาจักรเพราะพื้นที่ในการตั้งอาณาจักรอยู่ในเขตราบลุ่ม อาชีพที่เหมาะสม คือการเกษตร ตั้งแต่สมัยสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา และรัตนโกสินทร์ จึงพูดได้ว่า “ควายคือชีวิตของคนไทย”
โลกเจริญก้าวหน้า มีวิทยาการและเทคโนโลยีใหม่ ๆ สังคมเปลี่ยนแปลง รวมทั้งสังคมเกษตรในประเทศไทยจากที่เคยใช้ควายไถนา คราดนา ลากเกวียน นวดข้าว เปลี่ยนเป็น เครื่องจักร เครื่องนวดข้าว บทบาทของควายภาคเกษตรหมดลงโดยสิ้นเชิง
ควายมีการเรียกแตกต่างกันไปแต่ละชาติแต่ละภาษา เช่น ภาษาจีนเรียกว่า “สุ่ยหนิว” (Sui Nui) ภาษาฟิลิปปินส์ เรียกว่า “คาราบาว” (Carabao) และภาษาไทยเรียกว่า “ควาย” (Khway) ภาษามาเลย์เรียกว่า “เกรเบา” (Krabao) เป็นต้น
พันธุ์ควายในโลกมี 2 ชนิด คือควายป่า และควายบ้าน ซึ่งสามารถแบ่งควายบ้านออกไปได้อีก 2 ประเภทดังนี้คือ- ควายปลัก (Swamp Buffalo) ประเทศต่าง ๆ ในแถบเอเชีย ได้แก่ ไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย พม่า เวียดนาม กัมพูชา ลาว มีควายปลักเป็นจำนวนมาก ใช้สำหรับทำงานในท้องนาเพื่อปลูกข้าว และลากเข็น เมื่อกระบือใช้งานไม่ไหวแล้ว ก็จะส่งเข้าโรงฆ่าเพื่อใช้เนื้อเป็นอาหาร
– ควายปลัก มีความแข็งแรง มีกีบเท้าใหญ่ เคลื่อนไหวและเจริญเติบโตช้า ไม่ค่อยทนความร้อน จะแสดงอาการทุรนทุรายเมื่อไม่ได้ลงน้ำเป็นเวลานาน ชอบแช่ในโคลนตมเพื่อป้องกันแสงแดดและแมลงรบกวน ได้แก่ควายอินโดนีเซีย และกระบือไทย เป็นต้น ควายปลักของไทยมีลักษณะ ขนาด และสี คล้ายควายในพม่า กัมพูชา ลาว มาเลเซีย ซี่งมีสี 2 สี คือ สีเทาเข้มเกือบดำและอีกสี คือสีเผือก-ผิวหนังสีชมพู
– ควายน้ำหรือควายแม่น้ำ (River Buffalo) พบในอินเดีย ปากีสถาน อียิปต์ ยุโรปตอนใต้ ส่วนใหญ่เป็นควายนมมากกว่า ชอบน้ำสะอาด ไม่ชอบลงโคลน ได้แก่ ควายอียิปต์ ควายคอเคเซียน และควายเมดิเตอร์เรเนียน เป็นต้น ควายแม่น้ำเพิ่งเข้ามาสู่ประเทศไทยประมาณสมัยรัชการที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงอยู่ในส่วนราชการ ควายยังไม่มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตคนไทยมากนัก
ในช่วงปี พ.ศ. 2522 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงริเริ่มโครงการธนาคารกระบือ (Buffalo Bank Project) ขึ้นที่ จ. ปราจีนบุรี และกรมปศุสัตว์รับผิดชอบในการดำเนินการ
ลักษณะทั่วไปของควาย
1. ขนาด : ควายจะโตเต็มวัยเมื่ออายุระหว่าง 5-8 ปี น้ำหนักตัวผู้โตเต็มวัยโดยเฉลี่ย 520-560 กิโลกรัม ตัวเมียเฉลี่ยประมาณ 360-440กิโลกรัม ตัวผู้จะใหญ่กว่าตัวเมียเล็กน้อย
2. รูปร่างหน้าตา : ควายส่วนใหญ่รูปร่างอ้วน เตี้ย พ่วงพี ลำตัวสั้น ท้องกางกลม แข้งขาสั้น เขากางยาว ปลายเขาโค้งเป็นวงคล้ายพระจันทร์เสี้ยว
3. สี : ควายมีอยู่ 2 สี คือควายที่มีขนสีดำกับควายที่มีขนสีขาว โดยทั่วไปควายมีขนสำดำ ส่วนควายขนสีขาวหรือที่เรียกว่าควายเผือก (Albinoid Buffalo) ไม่ค่อยมีหน้าที่ในการเป็นสินค้า หรืออาหาร เพราะชาวนาไม่นิยมซื้อขาย และไม่นิยมฆ่าแกง แต่จะมีประโยชน์ด้านจิตใจมากกว่าควายสีดำ
4. เขา : ควายโดยทั่วไปหรือส่วนใหญ่มีเขายาวกางออกสองข้างศีรษะ ปลายเขาโค้งเข้าหากัน ลักษณะเขาควายส่วนล่างเป็นสี่เหลี่ยมรูปมนผิวขรุขระเป็นปล้อง ส่วนบนกลมเรียวปลายแหลมผิวลื่น ควายบางตัวมีเขาผิดปกติ คือเขาสั้นทู่หรือเขาหลูบห้อยลงสองข้างศีรษะ ขนาดเขาควายโดยปกติยาวประมาณ 60-120 เซนติเมตร
5. ฟัน : ควายมีฟันล่าง 20 ซี่ ส่วนฟันบนมีเฉพาะกราม 12 ซี่ ไม่มีฟันหน้า ด้วยเหตุนี้ชาวนาจึงเชื่อว่าควายไม่มีฟันบน
การเจริญเติบโตและการสืบพันธุ์
ลูกควายจะกินนมแม่จนอายุประมาณ 1.5 ปี ควายจะเจริญเติบโตใช้แรงงานได้ระหว่างอายุ 2.5 – 3 ปี ช่วงที่ใช้งานได้เต็มที่ คือระหว่างอายุ 5-8 ปี ควายแต่ละตัวจะใช้งานได้จนอายุย่างเข้า 20 ปี อายุควายโดยทั่วไปเฉลี่ยประมาณ 25 ปี (เว้นกรณีพิเศษที่ควายบางตัวอาจมีอายุยืนผิดปกติ)
ควายตัวผู้สามารถเป็นพ่อพันธุ์ได้ตั้งแต่อายุ 2 ปี ส่วนควายตัวเมียสามารถเป็นแม่พันธุ์ได้ตั้งแต่อายุ 3 ปีขึ้นไป ควายจะตั้งท้องช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวซึ่งเป็นฤดูที่อาหารอุดมสมบูรณ์ ควายจะอุ้มท้องประมาณ 10.5 เดือน ก่อนและหลังคลอด 2-3 อาทิตย์ เจ้าของไม่นิยมใช้งานหนัก ปกติควายจะคลอดลูก2 ตัว ในเวลา 3 ปี
การเลี้ยง
โดยมากเลี้ยงเป็นฝูงรวมกัน โดยใช้ตัวผู้ 1 ตัว คุมฝูงตัวเมียได้ประมาณ 25-30 ตัว หากกระบือที่เลี้ยงไว้มีจำนวนมาก ก็จะแบ่งออกเป็นฝูงโดยใช้รั้วกั้น (วิธีแบ่งฝูงกระบือจะแบ่งตาม ฝูงพ่อกระบือ แบ่งเป็นคอก ๆ เพื่อป้องกันการต่อสู้กัน ฝูงแม่กระบือ ฝูงกระบือตัวผู้ที่ยังผสมไม่ได้ และฝูงกระบือตัวเมียที่ยังผสมไม่ได้)
ควายเป็นสัตว์ซึ่งตามภาษาสัตวศาสตร์ เรียกว่า Bos Bubalis มนุษย์รู้จักและเลี้ยงมาช้านานแล้ว โดยควายตามลักษณะของวิชาสัตวศาสตร์มีดังนี้ เป็นสัตว์ขนาดหนักโครงร่างใหญ่ ร่างกายหนา ผิวหนังมีสีดำ สีเผือก สีด่าง มีขนเล็กน้อย หัวยาวแคบ มีเขาบนหัว หางสั้นและมีขนที่ปลายหาง กระบือพันธุ์นมที่ดีจะมีเต้านมใหญ่ หัวนมยาว น้ำนมมีสีขาว ไขมันสูงสามารถใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง โดยใช้ไถนา ลากของ ลากเกวียน เนื้อเป็นอาหารหนังก็นำมาทำเครื่องหนัง อีกทั้งยังเป็นพาหนะอีกด้วย
คุณค่าที่ถูกลืม
ปัจจุบันคุณค่าของควายเริ่มลดน้อยลงไป โดยเฉพาะทางด้านเกษตรกรรม เพราะมีเครื่องจักรที่ทันสมัยเข้ามาใช้แทน แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ก็ยังมีกลุ่มเกษตรกรบางกลุ่มที่อนุรักษ์และยังคงความนิยม “ควาย” มากกว่าเครื่องจักรไม่ว่าเหตุผลใด ๆ ก็แล้วแต่ควายถือเป็นสัตว์ที่มีคุณค่าต่อมนุษย์ไม่ว่าในยุคไหน ๆ ก็ตามที ถึงแม้ปัจจุบันคุณค่าบางส่วนอาจลดลงไปก็ตาม
คลิป : รักบ้านเกิด Rakbankerd
ติดตาม : https://www.youtube.com/watch?v=BW0KZfiNcWY