สมุนไพรกะตังใบ ใชั้ทั้งภายในและภายนอกแก้ไข้หวัดใหญ่และไวรัสครั่นเนื้อครั่นตัว
- Genres:สมุนไพร
วีดีโอ เกษตร : สมุนไพรกะตังใบ ใชั้ทั้งภายในและภายนอกแก้ไข้หวัดใหญ่และไวรัสครั่นเนื้อครั่นตัว
สมุนไพรกะตังใบ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ขี้หมาเปียก (นครราชสีมา), ต้างไก่ (อุบลราชธานี), คะนางใบ (ตราด), กะตังใบ (กรุงเทพมหานคร, จันทบุรี, เชียงใหม่), ช้างเขิง ดังหวาย (นราธิวาส), บังบายต้น บั่งบายต้น (ตรัง), ตองจ้วม ตองต้อม (ภาคเหนือ), ไม้ชักป้าน (ไทใหญ่), เหม่โดเหมาะ (กะเหรี่ยงแดง), ช้างเขิง (เงี้ยว), ต้มแย่แงง (เมี่ยน), อิ๊กะ (ม้ง), ช้างเขิง (ฉาน), กระตังใบ, เรือง, เขืองแข้งม้า เป็นต้น
ลักษณะของกะตังใบ
ต้นกะตังใบ จัดเป็นพรรณไม้พุ่มขนาดย่อมหรือไม้ต้นขนาดเล็ก มีความสูงได้ประมาณ 1-3 เมตร แตกกิ่งก้านตั้งแต่โคนต้น ลำต้นค่อนข้างเกลี้ยงหรือปกคลุมด้วยขนสั้น ๆ ต้นฉ่ำน้ำ ตามต้นและตามกิ่งอ่อนมีขนขึ้นปกคลุม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและแยกหน่อ เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทราย ชอบแสงแดดรำไร ใต้ร่มไม้ใหญ่ มีเขตการกระจายพันธุ์ในอินเดีย เนปาล พม่า บังกลาเทศ ภูมิภาคอินโดจีน ภูมิภาคมาเลเซีย ไปจนถึงออสเตรเลียและฟิจิ ส่วนในประเทศไทยพบกระจายพันธุ์อยู่ทั่วทุกภาค โดยมักพบขึ้นตามป่าดิบ ป่าผลัดใบ และตามป่าเต็งรัง บนพื้นที่ตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึงที่ความสูงประมาณ 1,400 เมตร
ใบกะตังใบ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ออกเรียงสลับ แกนกลางใบประกอบยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร เกลี้ยงหรือมีขนสั้นขึ้นปกคลุม ส่วนก้านใบประกอบยาวประมาณ 10-25 เซนติเมตร เกลี้ยงหรือมีขนเล็กน้อย ริ้วประดับมีตั้งแต่รูปสามเหลี่ยมค่อนข้างกว้าง ถึงรูปสามเหลี่ยมแคบ ยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร หูใบเป็นรูปไข่กลับ แผ่เป็นแผ่น มีขนาดกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตร และยาวได้ถึง 6 เซนติเมตร ซึ่งมักจะเกลี้ยงหรือมีขนขึ้นประปราย จะเห็นชัดเจนในขณะที่ใบยังอ่อน และจะร่วงได้ง่ายเมื่อใบแก่ เหลือไว้เฉพาะรอยแผลรูปสามเหลี่ยม ใบย่อยมีประมาณ 3-7 ใบ ออกเป็นคู่ตรงข้าม ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปรียาว รูปไข่ รูปขอบขนาน หรือรูปใบหอกแกมรี ปลายใบแหลมถึงเรียวแหลม โคนใบแหลมเล็กน้อย มน หรือเว้าเล็กน้อย ส่วนขอบใบจักเป็นซี่ฟัน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-12 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-24 เซนติเมตร แผ่นใบเกลี้ยงหรือมีขนเล็กน้อย เนื้อใบหนาปานกลาง ก้านใบย่อยยาวได้ประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร เกลี้ยงหรือมีขน หลังใบเป็นลอนตามแนวเส้นใบ ส่วนท้องใบเป็นลอนสีเขียวนวล และมีต่อมขนาดเล็กรูปเหลี่ยมหรือกลม เห็นเส้นใบได้ชัดเจน เส้นแขนงใบมีข้างละ 6-16 เส้น
ดอกกะตังใบ ออกดอกเป็นช่อใหญ่ตั้งขึ้น ยาวประมาณ 10-25 เซนติเมตร โดยจะออกตามซอกใบหรือตรงเรือนยอดของกิ่ง ก้านชูช่อดอกยาว แต่ละช่อดอกมีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกย่อยมีขนาดเล็ก เป็นเป็นสีขาวอมเขียว ขาวอมเหลือง หรือสีเขียวอ่อน ดอกตูมเป็นรูปทรงกลมสีแดงเข้ม เมื่อดอกบานจะเปลี่ยนเป็นสีขาว กลีบเลี้ยงติดกันเป็นรูปถ้วย กลีบเลี้ยงยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร เชื่อมติดกันที่โคน ปลายแยกออกเป็น 5 กลีบ ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ เชื่อมติดกันที่โคน กลีบดอกส่วนล่างติดกัน ส่วนด้านในเชื่อมติดกับส่วนของเกสรเพศผู้ ส่วนบนแยกเป็นกลีบเรียว 5 กลีบ ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน ติดอยู่กับหลอดเกสรเพศผู้ ปลายอับเรณูจะโผล่พ้นหลอดออกไปเป็นแฉกมน ๆ ปลายแฉกเว้า เกสรเพศเมียมีรังไข่ 6 ช่อง ในแต่ละช่องจะมีออวุล 1 เม็ด ก้านเกสรสั้น ปลายมน ออกดอกในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม
ผลกะตังใบ ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงกลม ๆ หรือกลมแป้น ด้านบนแบน มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้มจนถึงสีดำ ผิวผลบางมีเนื้อนุ่ม ภายในผลมีเมล็ดลักษณะเป็นรูปไข่ ออกผลในช่วงประมาณเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม
คลิป : โจ ฮักนะสารคาม
ติดตาม : https://www.youtube.com/watch?v=XB2gRuPYj3Y